In Focus: รอชม ไมค์ เพนซ์ vs คามาลา แฮร์ริส ดีเบตรองประธานาธิบดี ไม่ใช่แค่เวทีไม้ประดับ

หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ นายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ได้ขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์กันไปแล้ว มาในสัปดาห์นี้ ถึงคราวของดีเบตคู่ชิงรองประธานาธิบดีกันบ้าง

การดีเบตระหว่างรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ วัย 61 ปี ตัวแทนรีพับลิกัน กับ วุฒิสมาชิก คามาลา แฮร์ริส วัย 55 ปีที่พรรคเดโมแครตส่งเข้าประกวด จะมีขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวในวันพุธที่ 7 ตุลาคม เวลา 21.00 น. ตามเวลาสหรัฐ (ตรงกับ 8.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม ตามเวลาไทย) ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ เมืองซอล์ตเลกซิตี้ รัฐยูทาห์ โดยมีนางซูซาน เพจ หัวหน้าสำนักงานวอชิงตันของหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ รูปแบบการดีเบตจะแบ่งออกเป็น 9 ช่วง ช่วงละ 10 นาที รวมเวลา 90 นาที โดยไม่มีการเปิดเผยหัวข้อล่วงหน้า ซึ่งต่างจากการดีเบตประธานาธิบดีเมื่อสัปดาห์ก่อน

โดยปกติแล้ว การดีเบตของผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีไม่ว่าสมัยใด ไม่ค่อยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของประชาชนมากนัก อย่างไรก็ดี การดีเบตระหว่างรองปธน.ไมค์ เพนซ์ กับส.ว.คามาลา แฮร์ริส อาจต่างออกไป

ดีเบตรองประธานาธิบดี หนนี้ไม่ธรรมดา!

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดีเบตระหว่างสองผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในศึกเลือกตั้งปี 2020 นี้ ถูกจับตามากเป็นพิเศษ นั่นเป็นเพราะในการดีเบตเมื่อสัปดาห์ที่แล้วระหว่างทรัมป์กับไบเดน ได้สร้างความผิดหวังให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก โดยสื่อใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็นยกให้เป็นดีเบตยอดแย่ที่สุดในรอบ 20 ปี เนื่องจากทั้งคู่มัวแต่ตอบโต้กันไปมา ต่างฝ่ายต่างขัดจังหวะ พูดแทรก ด่าทออีกฝ่าย โดยที่พิธีกรคุมเกมไม่อยู่ และจบลงด้วยการที่ชาวอเมริกันแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการรับชม

การดีเบตรองประธานาธิบดีในวันพรุ่งนี้จึงถูกตั้งความหวังว่า อาจเป็นโอกาสให้ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ได้รับฟังนโยบายและแนวทางการบริหารประเทศในช่วงสี่ปีข้างหน้าแบบได้น้ำได้เนื้อ ไม่ใช่น้ำท่วมทุ่ง อีกทั้งนักวิเคราะห์การเมืองยังเชื่อด้วยว่า การดีเบตครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างสุภาพ เรียบร้อย มีมารยาท โดยที่ไม่มีฝ่ายใดผรุสวาท หรือเอ่ยคำว่า “หุบปาก” ออกมาอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ไม่บ่อยครั้งนักที่แคนดิเดตรองประธานาธิบดีต้องมารับภารกิจในการตามล้างตามเช็ดหลังการดีเบตประธานาธิบดี

โดยในการประชันวิสัยทัศน์รอบแรกระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับนายมิตต์ รอมนีย์ ในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2012 ผลปรากฏว่าปธน.โอบามาเป็นรอง ทำให้นายโจ ไบเดน ซึ่งเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีในขณะนั้น มีภารกิจในการเรียกคะแนนกลับคืนมาให้ฝั่งของตน

แต่เพนซ์ “เจองานยากกว่ามากในคืนพรุ่งนี้” เมื่อเทียบกับที่ไบเดนเจอเมื่อปี 2012 นาย อลัน ชโรเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การดีเบตประธานาธิบดี และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Presidential Debates: Risky Business on the Campaign Trail” กล่าว

โพลของเอ็นบีซีนิวส์/วอลล์สตรีทเจอร์นัล ซึ่งจัดทำขึ้นหลังการดีเบตประธานาธิบดียกแรกนั้น ชี้ว่า 49% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้ว (registered voters) คิดว่าไบเดนทำผลงานได้ดีกว่าทรัมป์ ขณะที่มีเพียง 24% ที่ให้คะแนนทรัมป์เป็นผู้ชนะ นอกจากนี้โพลยังเผยด้วยว่า ไบเดนทำคะแนนนำทรัมป์ออกไปเป็น 14 จุด

“มันสร้างแรงกดดันให้เพนซ์ต้องพยายามหาทางเรียกคะแนนคืนมา” โจเอล โกลด์สไตน์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านรองประธานาธิบดี และศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ กล่าว

ดีเบตแบบนิวนอร์มอล

นอกจากภารกิจกู้หน้าหัวหน้าทีม รวมถึงเรียกศรัทธาประชาชนให้กลับคืนมาแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดีเบตรองประธานาธิบดีครั้งนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษก็คือ การดีเบตเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าตนติดโควิด-19

ข่าวช็อกโลกดังกล่าวได้ทำให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีมีบทบาทสำคัญขึ้นมาทันที เพราะหากประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รองประธานาธิบดีจะต้องขึ้นมารักษาการแทนประธานาธิบดี

โดยทั้งทรัมป์และไบเดนต่างอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดโควิดแล้วจะมีอาการรุนแรง เนื่องจากทั้งคู่มีอายุมากแล้ว ทรัมป์ 74 และ ไบเดน 77 (แม้รายงานข่าวล่าสุดจะระบุว่า ทรัมป์มีอาการดีขึ้น จนออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ขณะที่ไบเดนตรวจโควิดแล้วสองครั้ง ผลออกมาเป็นลบทั้งสองครั้ง)

และจากการที่ทรัมป์ติดโควิดนี่เอง ทำให้ในการดีเบตรองประธานาธิบดีวันพรุ่งนี้ จะมีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางการสังคม โดยแคนดิเดตทั้งสองคนจะอยู่ห่างกัน 13 ฟุต ซึ่งมากกว่าเมื่อครั้งการดีเบตระหว่างทรัมป์และไบเดนที่คลีฟแลนด์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกำหนดไว้ที่ 7 ฟุต รวมถึงการติดตั้งแผ่นอะคริลิกใสเป็นฉากกั้นตรงหน้าเพนซ์และแฮร์ริส ซึ่งได้รับการยืนยันแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ Politico รายงานว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นต่างเกี่ยวกับการติดตั้งแผ่นอะคริลิก โดยทีมแฮร์ริสสนับสนุนให้มีการตั้งฉากกั้น แต่ทีมของเพนซ์คัดค้าน

นอกจากนี้ การดีเบตครั้งนี้จะจำกัดจำนวนผู้เข้าชม โดยทุกคนต้องผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 และใครก็ตามที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยจะถูกเชิญออกจากสถานที่จัดงาน หลังมีบทเรียนในศึกดีเบตนัดแรกระหว่างทรัมป์กับไบเดน ซึ่งสมาชิกในครอบครัวทรัมป์หลายคนเข้าฟังการอภิปรายโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย

ใครภาษีดีกว่า

ภาพ: รอยเตอร์

ความเป็นผู้หญิง อีกทั้งยังมีเชื้อสายแอฟริกันและเอเชีย เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้คามาลา แฮร์ริส ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

แฮร์ริส วัย 55 ปี เป็นบุตรสาวของผู้อพยพชาวอินเดียและจาเมกา เธอจึงกลายเป็นสตรีผิวสีและชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐที่ได้รับการเสนอชื่อให้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี นอกจากนี้ แฮร์ริสยังเป็นสตรีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์สหรัฐที่ได้รับเลือกจากพรรคการเมืองใหญ่ให้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

สำหรับในการดีเบตวันพรุ่งนี้ หลายคนรอดู แฮร์ริส งัดสกิลการเป็นอดีตอัยการออกมาข่มขวัญคู่ต่อสู้ โดยในปี 2003 แฮร์ริสได้รับเลือกให้เป็นอัยการเขตของซานฟรานซิสโก และต่อมาในปี 2010 เธอเป็นสตรีคนแรก เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรก และเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีกสมัยในปี 2014

ทิม เคน วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์จิเนีย สังกัดพรรคเดโมแครต หรือที่รู้จักกันในฐานะอดีตผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีกับไมค์ เพนซ์ ในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 แสดงความเห็นว่า ในการดีเบตครั้งนี้ แฮร์ริสน่าจะได้ใช้ประสบการณ์ ทักษะและความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาเมื่อครั้งเป็นอัยการฝีปากกล้า เพื่อแสดงให้ผู้ชมได้เห็นเป็นประจักษ์ว่า คณะทำงานของทรัมป์เป็นต้นเหตุของชีวิตนับแสนที่ต้องถูกโควิด-19 คร่าไป ชาวอเมริกันหลายล้านคนต้องตกงาน เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสังคม และการขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูง

แรงกดดัน

อย่างไรก็ดี เกียรติประวัติต่างๆ ดังที่กล่าวมาทำให้แฮร์ริสถูกคาดหวังไว้สูง และนั่นอาจทำให้เธอกดดันตัวเอง

โดยในขณะที่เพนซ์เคยผ่านเวทีดีเบตมาแล้ว แต่นี่จะเป็นครั้งแรกสำหรับแฮร์ริส ถึงแม้เธอเคยชิมลางเวทีดีเบตในศึกหยั่งเสียงเพื่อหาตัวแทนพรรคเดโมแครตไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่นั่นเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เธอจะประสบพบเจอในการดีเบตวันพรุ่งนี้ ต่อหน้าผู้ชมนับสิบล้าน

โรเบิร์ต บาร์เนตต์ ทนายความผู้มีประสบการณ์ในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้สมัครจากเดโมแครตมาแล้วหลายราย ทั้งในการดีเบตประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งรวมถึงการแสดงเป็นไมค์ เพนซ์ ในการเตรียมตัวดีเบตให้กับทีม เคน เมื่อปี 2016 กล่าวว่า “การดีเบตแบบตัวต่อตัวในการเลือกตั้งทั่วไปนั้น มีความท้าทายสูงกว่าการดีเบตในการหยั่งเสียงเลือกตั้งซึ่งเป็นการดีเบตพร้อมกับผู้สมัครหลายคน เดิมพันนั้นสูงกว่า ผู้ชมมากกว่า ประเด็นที่ต้องอภิปรายก็หลากหลายและกว้างกว่า อีกทั้งหากพลาด มูลค่าของความเสียหาย ยังแพงกว่ามากด้วย”

ทั้งนี้ แฮร์ริสเองได้ออกปากปรามกองเชียร์ของเธออยู่บ่อยครั้ง โดยในการระดมทุนครั้งหนึ่ง เธอได้กล่าวว่า “ไมค์ เพนซ์ ดีเบตได้ดีมาก เพราะฉะนั้น ลดความคาดหวังลงมาหน่อย”

ขณะที่ในการระดมทุนหาเสียงทางออนไลน์เมื่อเดือนที่แล้ว แฮร์ริสได้กล่าวทำนองเดิมว่า “ดิฉันขอพูดอะไรสักหน่อย เพนซ์เป็นนักดีเบตที่ดี”

อย่าประมาท

ภาพ: รอยเตอร์

การประเมินคู่แข่งของนางแฮร์ริส ได้รับเสียงสะท้อนทำนองเดียวกันจากทั้งฟากฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกัน ซึ่งรู้จักและรู้ดีว่ารองปธน.เพนซ์ นั้นมีดีอย่างไรบ้าง

“ไมค์ เพนซ์ นุ่มนวล เท่ากับที่ ทรัมป์ หยาบกระด้าง” เดวิด แอกเซลรอด นักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเป็นหัวหน้านักวางยุทธศาสตร์หาเสียงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา รวมทั้งเคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีโอบามา กล่าวแสดงความเห็นผ่านพอดแคสต์ของเขา “เพนซ์อาจทำผลงานในแบบที่ผู้ดูแลทรัมป์หวังอยากให้ทรัมป์เป็นเช่นนั้นบ้าง”

ด้านจอห์น เกร็กก์ สมาชิกเดโมแครตจากรัฐอินดีแอนา บ้านเดียวกับเพนซ์ และเคยเรียนโรงเรียนกฎหมายที่เดียวกับเพนซ์ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ประเมินทักษะของเพนซ์ต่ำเกินไป

เพนซ์ เคยเป็นนักจัดรายการวิทยุ ซึ่งรวมถึงรายการ The Mike Pence Show รายการวิทยุท้องถิ่นที่ออกอากาศผ่านสถานีวิทยุ 18 สถานีในรัฐอินดีแอนา เวลา 9.00 น. ถึงเที่ยง ตลอดจนเป็นพิธีกรรายการทอล์กโชว์ชื่อเดียวกันทางโทรทัศน์ รวมเป็นเวลาถึงห้าปี ในระหว่างปี 1994-1999 ซึ่งในช่วงเวลาเหล่านั้นเอง ช่วยให้เพนซ์ได้ฝึกทักษะการพูด การสนทนา จนทำให้เขาได้รับฉายาว่า “ราชาแห่งวลีเด็ด”

“คุณต้องยอมรับว่า ไมค์ เพนซ์ เป็นผู้ชนะในการดีเบตเมื่อสี่ปีที่แล้ว”

เกร็กก์กล่าว

สำหรับดีเบตในวันพรุ่งนี้ ใครจะเป็นผู้ชนะ ไมค์ เพนซ์ ผู้เจนเวที หรือหญิงแกร่งอย่าง คามาลา แฮร์ริส ครั้งเดียวรู้ผล เพราะศึกครั้งนี้ ไม่มีรอบแก้ตัว!

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (7 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top