ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย. ลดลงครั้งแรกรอบ 5 เดือนจากปัญหาการเมือง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.63 อยู่ที่ 50.2 จาก 51.0 ในเดือน ส.ค.63 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนจากปัญหาการเมือง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 42.9 จาก 43.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 48.2 จาก 49.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.4 จาก 60.4

ทั้งนี้ ปัจจัยลบ มาจากความกังวลสถานการณ์การเมืองจากการชุมนุม, การลาออกจากตำแหน่งรมว.คลังของนายปรีดี ดาวฉาย กระทบความเชื่อมั่นในสายตาผู้บริโภค, ความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19, การส่งออกในเดือนส.ค.ที่ลดลง -7.94% และเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 63 จะหดตัว-7.8% น้อยลงจาก -8.1% และกนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี และราคาน้ำมันในประเทศยังทรงตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการในเดือนก.ย.นี้ ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และการที่ดัชนีฯ โดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และกาจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนและยังทรงตัวต่ำ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพการเมืองไทย แม้รัฐบาลจะได้ผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้หลายสถานประกอบการมากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องหลายมาตรการก็ตาม ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะยังชะลอการใช้จ่ายออกไปอย่างน้อยจถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิดของโลกจะคลายตัวลง

ดังนั้น ต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในไตรมาส 4 ว่าจะสามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์การเมืองของไทยตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นไปว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งปัจจัยทั้งสองนี้จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

“ในเดือนก.ย. พอนายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจาก รมว.คลัง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจขึ้นในตลาดเงินตลาดทุน คนกังวลว่าเศรษฐกิจจะเคลื่อนไปทางไหน จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมทางการเมืองในหลายจุดใหญ่ และคาดว่าจะมีการชุมนุมอีกในเดือนต.ค. คนจึงไม่มั่นใจว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพหรือไม่ จะนำพาความวุ่นวายอะไรให้เกิดขึ้น เสถียรภาพรัฐบาลจะเป็นอย่างไร และมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าแม้รัฐบาลจะมีมาตรการฟื้นฟูเยียวยา หรือคลายล็อกต่างๆ ออกมา ดัชนีความเชื่อมั่นจึงปรับลดลง และประชาชนก็ยังไม่มั่นใจว่าเดือนต.ค.จะออกมาโทนไหน คงต้องรอดูนโยบายจากรมว.คลังคนใหม่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และดูการชุมนุมในเดือนต.ค.นี้ด้วย”

นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังแสดงความเป็นห่วงต่อภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นเท่าที่ควร แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา ซึ่งหากผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถแบกรับสถานการณ์ได้ไหว ก็จะทำให้มีการปลดคนงาน และเพิ่มปัญหาการว่างงานมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะได้เห็นการว่างงานมากถึง 5 แสนคนในช่วงไตรมาส 4 นี้

สิ่งที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล คือขอให้มีการปรับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวให้มีความสะดวก และสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของประชาชนและผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการที่ธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยดึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้ฟื้นขึ้นได้

“เรากังวลภาคท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้น แม้รัฐบาลจะมีมาตรการออกมา แต่หากเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ไม่ทัน ภาคธุรกิจท่องเที่ยวก็อาจจะปลดคนงานออก เพราะแบกรับสถานการณ์ไม่ไหว ซึ่งมาตรการพักชำระหนี้ให้ภาคธุรกิจก็จะหมดในต.ค.นี้แล้ว ดังนั้นไตรมาส 4 จึงถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย หากการท่องเที่ยวไม่ฟื้น อาจจะได้เห็นการปลดคนงานในระดับ 5 แสนคนได้”

นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลในภาพรวมที่จะมีเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะช่วยทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 4 หดตัวน้อยลงเหลือ -4 ถึง -5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -6 ถึง -7% ขณะที่การส่งออกในไตรมาส 4 นี้ คาดว่าหดตัวราว -8% เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ จากสถานการณ์โควิดไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่ก็ไม่ได้แย่ลง ซึ่งจะทำให้ภาพรวมจีดีพีปีนี้หดตัวราว -7 ถึง -9%

ส่วนในปี 64 คาดว่าจากสถานการณ์ต่างๆ ที่น่าจะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับตัวเลขฐานที่ต่ำในปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวได้ 3-4% ขณะที่การส่งออกไทยอาจจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยที่ 2-5%

“ตัวเลขปีหน้า เรายังไม่ได้ประเมินไว้อย่างเป็นทางการ แต่ถ้ามองในตอนนี้ เศรษฐกิจปีหน้าก็คาดว่าจะโตได้ 3-4% จากสิ่งอะไรต่างๆ ที่ไม่ดีในปีนี้ จะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ในปีหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับเข้ามาได้ตั้งแต่ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงความคาดหวังที่จะมีวัคซีนป้องกันโควิด”

นายธนวรรธน์ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (8 ต.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top