
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (3 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันอาทิตย์นี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าที่ประชุมจะมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนส.ค.
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 45 เซนต์ หรือ 0.67% ปิดที่ 67.00 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 31 เซนต์ หรือ 0.45% ปิดที่ 68.80 ดอลลาร์/บาร์เรล
การผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเป็นเวลา 90 วันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ก.ค.นี้ ขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญหลายราย เช่น สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่ามาตรการภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ แม้ว่าการบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้นระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีศุลกากรยังคงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมัน
ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ในการประชุมโอเปกพลัสวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ค.นี้ ที่ประชุมจะมีมติเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับเดือนส.ค.จำนวน 411,000 บาร์เรล/วัน หลังจากที่มีมติเพิ่มกำลังการผลิตในปริมาณดังกล่าวในเดือนพ.ค., มิ.ย. และก.ค.
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานของไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล (Caixin/S&P Global) ซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมิ.ย.ของจีนขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากอุปสงค์อ่อนแอลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 68)