UAC สานเป้ากับเงื่อนไขใหม่โรงไฟฟ้าชุมชน ปักธงปี 63 ผลงานจ่อทุบนิวไฮ

ความคืบหน้าของนโยบายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่เป็นนโยบายตั้งแต่สมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน ที่ถูกปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ภายหลังจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบเก้าอี้รมว.พลังงาน

จากสูตรเดิมที่ตั้งเป้ารับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 700 เมกะวัตต์ในช่วงเริ่มต้น แต่ล่าสุดเงื่อนไขใหม่อาจลดขนาดเป้าการรับซื้อไฟฟ้าเหลือเพียง 100-150 เมกะวัตต์เป็นประเภทโครงการนำร่อง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนบทสรุปเงื่อนไขใหม่จากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนตุลาคมนี้

สำหรับ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนที่เตรียมพร้อมเข้าประมูลรอบนี้

สานเป้าโรงไฟฟ้าชุมชน 30 MW กับเงื่อนไขใหม่

นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สำหรับมุมมองนโยบายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจนนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมาบริษัทเตรียมความพร้อมแล้วทุกด้านเพราะเป็นนโยบายที่เผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการว่าจะเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่วนตัวมองว่าการเกิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนับว่าประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรในชุมชน เพราะผู้ผลิตไฟฟ้าต้องรับซื้อวัตถุดิบพืชพลังงานจากเกษตรกร ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้มั่นคง และประโยชน์อีกด้านคือช่วยลดมลพิษเปลี่ยนจากต้นข้าวโพดที่ต้องเผาทิ้งก็นำมาจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าได้

สำหรับเงื่อนไขราคารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเชื่อว่ารัฐบาลมีข้อมูลการศึกษารายละเอียดทั้งหมดอยู่แล้วที่เป็นอัตราเหมาะสมกับผู้ประกอบการและเกษตรกร อย่างไรก็ตาม หากยึดตามสูตรเดิมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ 700 เมกะวัตต์ จะกระจายสถานที่ตั้งโครงการมากกว่า 200 จุดทั่วประเทศ ซึ่งจะเกิดความคุ้มค่าต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจพื้นที่ชุมชน และโควตาที่รับซื้อไฟฟ้าคิดเป็นส่วนน้อยหากเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่มีมากกว่า 30,000 เมกะวัตต์ ทำให้มองว่าไม่ได้กระทบต่อต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเทศพัฒนาแล้วอย่างในโซนยุโรปก็ได้นำมาใช้นานแล้ว

“อยากให้รัฐบาลมองถึงความคุ้มค่าของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนและเดินหน้านโยบายนี้ต่อเนื่อง เฉพาะแค่โรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานของบริษัท ก็รับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 15 ล้านบาทหากวัดความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์เงินก้อนนี้จะหมุนเวียนในชุมชนอย่างน้อย 3 รอบเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในชุมชนได้อีกและลดภาระงบประมาณที่รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนราคาสินค้าเกษตร”

นายกิตติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลอนุมัติเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน บริษัทมีความพร้อมจากกำลังผลิตที่มี 3 เมกะวัตต์ ที่สามารถเข้าเงื่อนไข “Quick Win” เดินเครื่องการผลิตไฟฟ้าได้ทันที รวมถึงยังมีความพร้อมเข้าประมูลโครงการ 30 เมกกะวัตต์ คิดเป็นวงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท เนื่องจากมีฐานเงินทุนที่จะนำมาใช้ขยายโครงการดังกล่าวเช่นกัน ปัจจุบันระดับหนี้สินต่อทุนต่ำเพียง 0.70 เท่า และมีแหล่งเงินจากการขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อระดมทุนผ่านหุ้นกู้วงเงิน 2,000 ล้านบาท ทำให้มั่นใจว่าบริษัทมีศักยภาพขยายการลงทุนได้อีกมาก โดยไม่ต้องอาศัยวิธีการเพิ่มทุน

ปีนี้ครบรอบ 25 ปี ลุ้นผลงานทุบนิวไฮ

นายกิตติ กล่าวว่า ปี 2563 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองฉลองครบรอบ 25 ปี ภายหลังจากเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ได้รับการคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี FTSE Micro Cap สำหรับรอบครึ่งปีหลัง เพิ่มความโดดเด่นเข้าไปอยู่ในเรดาร์ของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ภาพรวมผลประกอบปีนี้มีโอกาสทำสถิติสูงสุดใหม่ ภายหลังจากช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีกำไรสุทธิ 131.32 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 163.88 ล้านบาท แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ผลกำไรของบริษัทที่เติบโตอย่างมาก

เนื่องจากธุรกิจไบโอดีเซล มีอัตราการเติบโตโดดเด่นภายหลังจากรัฐบาลปรับนโยบายมาใช้ B7 เดิม B5 เมื่อช่วงต้นปี 2563 และล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนจาก B7 มาเป็น B10 เพื่อเพิ่มดีมานด์ใช้ปาล์มภายในประเทศ ส่งผลให้บริษัทได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าวด้วย ส่วนธุรกิจไบโอดีเซลในโครงการที่ UAC ร่วมลงทุนกับบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน และบางส่วนเกิดจากธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำที่สร้างกระแสเงินสดคือธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์

“ครึ่งปีแรกกำไรเติบโตโดดเด่นส่วนหนึ่งเกิดจากส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากธุรกิจไบโอดีเซลที่ร่วมกับบางจากฯ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% เมื่อเทียบภาพรวมของกำไรครึ่งปีแรก และแม้ว่าธุรกิจเทรดดิ้งเคมีภัณฑ์จะมีปริมาณขายที่ลดลง แต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าปีก่อนและแผนลดและควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขอัตรากำไรที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกธุรกิจ”

สำหรับภาพรวมครึ่งปีหลังตั้งเป้าในลักษณะ Conservative ที่มีโอกาสเติบโตลักษณะเดียวกับช่วงครึ่งปีแรก เพราะแนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปี 63 ภาวะเศรษฐกิจน่าจะพลิกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตโดยตรงแต่ละธุรกิจ และการที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบาย B10 ก็เป็นหนึ่งตัวแปรเร่งความสามารถทำกำไรได้ดีขึ้นอีกช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 12 เมกะวัตต์ก็ยังสร้างกระแสเงินสดได้ดีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสร้างรายได้เป็นสัดส่วน 20% เมื่อเทียบกับรายได้รวม

เปิดโอกาสขยายธุรกิจ “พลังงาน” ต่างประเทศ

นายกิตติ กล่าวต่อว่า บริษัทยังคงมองหาโอกาสขยายลงทุนธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ ปัจจุบันเริ่มต้นกับโครงการบริหารจัดการขยะและโรงไฟฟ้าขยะใน สปป.ลาว โดยร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นและบริษัท UAC เป็นถือหุ้นใหญ่สัดส่วนมากกว่า 50% โดยโครงการดังกล่าวเป็นลักษณะสัมปทานอายุ 45 ปีเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว ตามแผนคาดว่างานก่อสร้างโรงแยกขยะจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ และเฟสต่อไปคือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ช่วงปลายปี 2564 และสามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เฟสแรกกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ แต่หากปริมาณขยะและความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นบริษัทมีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าขยะในเฟสต่อไป

“บริษัทมองหาโอกาสในต่างประเทศต่อเนื่องทั้งพลังงานลม,พลังงานแสงอาทิตย์ ,พลังงานไบโอแก๊ส ,พลังงานขยะ นอกเหนือจากประเทศ สปป.ลาว ที่บริษัทเข้าไปลงทุนแล้ว เช่น ประเทศเวียดนาม ,ประเทศเมียนมา ที่มีแนวโน้มการเติบโตด้านพลังงานสูงมากในระยะถัดไป ขณะที่แนวทางการขยายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนตามการปรับโครงสร้างภายในหลังผลักดัน Generation ใหม่เข้ามาขับเคลื่อนองค์กร แม้ว่ารูปแบบการขยายธุรกิจคงเน้นการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดมากขึ้น เช่น ธุรกิจพลังงานอาจเข้าสู่รูปแบบสมาร์ทกริด (Smart Grid) ที่เป็นการวางระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น แต่รูปแบบของธุรกิจเป็นลักษณะการต่อยอดธุรกิจหลักที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ ไม่ได้ออกนอกกรอบที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน”

นายกิตติ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าระยะยาวภาพของรายได้รวมจะต้องเติบโตอย่างน้อยเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่ภาพของความสามารถทำกำไรจะรักษามาตรฐานที่บริษัทดำเนินการมาต่อเนื่อง

“การเติบโตของ UAC ในทศวรรษต่อไปตัวแปรที่เราให้ความสำคัญอย่างมากคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น ส่วนร่วมชุมชน ความเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เพราะหากบริษัทมุ่งเน้นแต่สร้างกำไรเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงภาคส่วนอื่นๆการเติบโตคงจะไม่ยั่งยืน”นายกิตติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (8 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top