สธ.เผยพบคนขับรถจากเมียนมาติดโควิดอีก 1 ราย, ตากสั่งระงับเข้า-ออกจุดผ่านแดนถาวร

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่อ.แม่สอด จ.ตาก หลังจากที่ได้พบพนักงานขับรถจากเมียนมา ที่ข้ามมาส่งสินค้าในฝั่งไทย ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 รายก่อนหน้านี้ ล่าสุดพบพนักงานขับรถจากเมียนมาอีก 1 รายติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 รายได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมียวดีแล้ว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ทางฝั่งเมียนมาได้พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในจังหวัดเมียวดี ซึ่งอยู่ตรงข้ามอ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ได้ร่วมตรวจคัดกรองพนักงานบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ โดยในวันที่ 8 ต.ค.เป็นวันแรกที่เริ่มมีการคัดกรอง ทางโรงพยาบาลแม่สอดแจ้งว่าได้มีการตรวจแล้ว 55 ราย ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อและมีการตรวจต่อเนื่องในวันที่ 9 ต.ค. จำนวน 60 ราย พบผู้ติดเชื้อเป็นพนักงานขับรถชาวเมียนมา 2 ราย ไม่มีอาการป่วย ได้รับการส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลเมียวดี และถัดมาในวันที่ 10 ต.ค. ทีมสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่ที่พนักงานขับรถได้เข้ามาส่งสินค้า ซึ่งได้เกี่ยวข้องกับโกดัง 2 แห่ง คือโกดังอาลี และโกดังสิงห์รุ่งเรือง ทำให้มีการเก็บตัวอย่างตรวจ จากแรงงานที่อยู่ในโกดังทั้ง 2 แห่งเพิ่มเติมรวม 74 ตัวอย่าง พบว่ามี 1 ราย ที่ผลเป็นบวก ซึ่งเป็นพนักงานขับรถชาวเมียนมาเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ขณะนี้มีพนักงานขับรถชาวเมียนมา 3 รายที่พบการติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก

สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับคำแนะนำในการดูแลป้องกันโรค ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ ส่วนทางฝั่งเมียนมา ผู้ที่ได้สัมผัสกับพนักงานขับรถก็ได้นำเข้าสู่สถานที่กักกันเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนก็จะมีการติดตามดูจนครบ 14 วัน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข มีการสนับสนุนเรื่องการดำเนินการคัดกรองและสอบสวนโรคในพื้นที่ และมีรถพระราชทานชีวนิรภัย เก็บตัวอย่างจำนวน 3 คัน จะไปร่วมดำเนินการในพื่นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทาง ตลอดจนมีการสนับสนุนชุดน้ำยาตรวจ และทีมสอบสวนโรคที่จะลงปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีการดูแลป้องกันการแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง ซึ่งหากประชาชนในพื้นที่ที่ไม่สบายใจสามารถไปขอรับการตรวจได้ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ส่วนจะต้องมีการกักตัวผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับชาวเมียนมาที่ติดเชื้อเป็นจำนวนที่แน่นอนเท่าใดนั้น ทางหน่วยงานในพื้นที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลแน่นอนต่อไป แต่เบื้องต้นพบผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพนักงานขับรถดังกล่าวมีเป็นหลักร้อย อย่างไรก็ตามพนักงานขับรถทั้ง 3 รายเป็นการติดเชื้อตั้งแต่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการผ่านด่านเข้ามาไทยก็จะให้สวมหน้ากากอนามัย และดูแลทำความสะอาด ป้องกันการแพร่เชื้อ ล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงมีระยะเวลาการเข้ามาไม่เกิน 7 ชั่วโมง เพราะเป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและกลับออกไป ซึ่งทั้ง 2 รายแรกที่ตรวจพบเชื้อในวันที่ 9 ต.ค.ก็กลับไปตามกำหนด ทำให้เชื่อว่าพฤติกรรมที่จะมาแพร่เชื้อก็จะไม่มากนัก เพราะผู้ติดเชื้อไม่มีอาการป่วย

ด้านนายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารมช.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการระบาดของประเทศพื้นที่ข้างเคียงมาตลอด หลังจากเกิดการระบาดที่รัฐยะไข่ ก็ได้ค่อย ๆ ยกระดับการป้องกันพื้นที่ชายแดนมาตลอด โดยต้องวางสมดุลระหว่างการค้าขายในพื้นที่ รวมไปถึงการป้องกันและควบคุมโรคด้วย ซึ่งอาจจะกระทบกับบางกลุ่มและบางอาชีพบ้าง จึงต้องฝากให้ประชาชนต้องรักษาระยะห่าง และใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการสาธารณสุขที่ไทยได้เริ่มดำเนินการทั้งหมดและความร่วมมือของประชาชน จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้คล้ายเดิมมากที่สุด

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การตรวจพบพนักงานขับรถชาวเมียนมาติดโควิด 19 ในครั้งนี้ เกิดจากการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคบริเวณพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งจากการคาดการณ์เหตุการณ์การระบาดที่อาจเกิดขึ้นใน 3 รูปแบบ เหตุการณ์นี้ถือว่าอยู่ในรูปแบบที่ 1 คือ พบผู้ติดเชื้อ สามารถตรวจจับและควบคุมได้ สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การเฝ้าระวังเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งทีมสอบสวนโรคจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงจัดรถตรวจเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน 3 คัน ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผู้สัมผัสในฝั่งไทยที่โกดังอาลี และโกดังสิงห์รุ่งเรือง ส่วนอีกคันพื้นที่จะเป็นผู้เลือกจุดให้บริการ สนับสนุนชุดตรวจน้ำยา PCR จำนวน 1,000 ชุด และชุดตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันหรือ Rapid Test จำนวน 2,000 ชุด เพื่อให้มีวัสดุอุปกรณ์ใช้อย่างเพียงพอ ควบคุมสถานการณ์ให้เร็วที่สุด

“กรณีนี้คล้ายกับกรณีทหารอียิปต์ที่ จ.ระยอง ปัจจัยที่ทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว คือ การตรวจเชิงรุก และความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น หากพบการเข้าประเทศผิดกฎหมายขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งการนำชาวต่างชาติผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ทั้งผิดกฎหมายและเสี่ยงนำเชื้อโรคเข้าประเทศไทย สำหรับประชาชนที่สงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย”

นายแพทย์โอภาส กล่าว

การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่อ.แม่สอดในครั้งนี้ ดำเนินการในกลุ่มพนักงานขับรถขาเข้าไทยและเมียนมา ระหว่างวันที่ 8-9 ต.ค. จำนวน 115 ราย ใช้การตรวจด้วยวิธี RT-PCR พบผลเป็นบวก 2 ราย เป็นชาวเมียนมา ไม่มีอาการ ทั้งสองรายเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเมียวดี โดยผลการตรวจยืนยันให้ผลบวกตรงกันกับประเทศไทย จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อทั้งสองรายเดินทางมาจากเมืองเมียวดี โดยรายที่ 1 เดินทางเข้าไทย รอบเช้า 10.00 น. รอบบ่าย 15.00 น. ไปที่โกดังอาลี แยกขายปลาตลาดพาเจริญ และโกดังสิงห์รุ่งเรือง รายที่ 2 เดินทางเข้า 10.00 น. ออกจากด่าน 16.00 น. ไปยังโกดังสิงห์รุ่งเรืองแห่งเดียว อยู่ในประเทศไทยไม่เกิน 7 ชั่วโมงตามมาตรการที่กำหนด ทั้งนี้ ในฝั่งของเมียวดี มีผู้สัมผัสที่ทำงานในโรงงานเดียวกัน 100 คน ทั้งหมดได้ถูกส่งเข้า state quarantine ของเมียนมา

สำหรับวันที่ 10 ต.ค. ได้เชิงรุกคัดกรองแรงงานเมียนมาและคนไทยในชุมชนฝั่งไทยจำนวน 74 คน ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR พบผลเป็นลบแล้ว 60 ราย ผลเป็นบวก 1 ราย เป็นพนักงานขับรถชาวเมียนมาเช่นกัน นับเป็นรายที่ 3 สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดพนักงานขับรถชาวเมียนมาทั้ง 3 ราย ในฝั่งไทยพื้นที่จะดำเนินการสอบสวนโรคให้ได้ข้อมูลต่อไป เบื้องต้นคาดว่ามีประมาณหลักร้อยคน ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อยู่ระหว่างหารือมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อ เพื่อการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง และดำเนินการค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสอบสวนและมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนชาวไทยทุกคน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีการประสานงานและมีความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นอย่างดีในการป้องการแพร่เชื้อข้ามพรมแดนด้วยระบบเฝ้าระวังกักกันที่มีประสิทธิภาพ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคที่มีความเข้มแข็งและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด

ขณะที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่า จังหวัดตากได้ออกคำสั่ง เรื่องระงับการเข้า-ออก ของบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของ ณ จุดผ่านแดนถาวรจังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงโควิด-19 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.63 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top