สหรัฐพบตัวมิงค์นับหมื่นติดโควิด-19 คาดแพร่จากพนักงานในฟาร์มปศุสัตว์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐยูทาห์ของสหรัฐอเมริกาพบตัวมิงค์เกือบ 10,000 ตัวในฟาร์มขนสัตว์ 9 แห่งทั่วรัฐล้มตายในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ช่องข่าวเอ็นบีซีได้เปิดเผยข้อมูลจากนายสัตวแพทย์ดีน เทย์เลอร์ ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ประจำรัฐยูทาห์เมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบเชื้อไวรัสในตัวมิงค์เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังคนงานในฟาร์มปศุสัตว์มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกไม่นานนัก ทำให้บรรดานักวิจัยคาดว่าสัตว์ชนิดดังกล่าวติดเชื้อไวรัสมาจากมนุษย์

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยระบุว่าไม่พบการแพร่ระบาดจากตัวมิงค์สู่มนุษย์ น.สพ.เทย์เลอร์กล่าว

น.สพ.เทย์เลอร์เสริมว่า รัฐยูทาห์ได้ออกคำสั่งกักกันฟาร์มทุกแห่งที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งให้กำจัดสัตว์ในฟาร์ม ในขณะเดียวกันก็กำลังทำงานร่วมกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเพิ่มเติมและให้การฝึกอบรมที่เพียงพอแก่คนงานในฟาร์มมิงค์

น.สพ.เทย์เลอร์เตือนว่า การป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในหมู่ตัวมิงค์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การยุติการระบาดในทันทีนั้นยากยิ่งกว่า

ก่อนหน้านี้ มีรายงานพบตัวมิงค์ติดไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน โดยในเดือนมิถุนายน หน่วยงานในประเทศเหล่านั้นได้สังหารมิงค์หลายแสนตัวด้วยการรมควัน เนื่องจากกังวลว่าพวกมันอาจเป็นต้นตอการแพร่กระจายไวรัสไปยังสัตว์เลี้ยงอื่นในฟาร์ม แม้กระทั่งมนุษย์

ส่วนในสหรัฐอเมริกา กรมการเกษตร การค้า และการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐวิสคอนซิน ได้ออกมาแถลงยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดีว่า (8 ต.ค.) มีตัวมิงค์มากกว่า 2,000 ตัวในรัฐตายด้วยโรคโควิด -19

“ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าพวกสัตว์ รวมถึงตัวมิงค์ มีบทบาทสำคัญในการแพร่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไปสู่มนุษย์” กรมฯแถลงต่อสื่อ “อย่างไรก็ตาม มนุษย์ที่ติดเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายไปสู่ตัวมิงค์และสัตว์อื่นๆ ได้ จึงขอแนะนำให้ผู้ที่สงสัยหรือได้รับผลยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง”

อนึ่ง คณะกรรมาธิการการขนสัตว์แห่งสหรัฐฯ (Fur Commission USA) ซึ่งเป็นสมาคมผู้เลี้ยงมิงค์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ระบุว่า ปัจจุบันสหรัฐมีฟาร์มมิงค์อยู่อย่างน้อย 245 แห่งใน 22 รัฐ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top