4 เครือข่ายเปิดตัวกลุ่ม Re-solution ขับเคลื่อนแก้ไขรธน.เป็นของประชาชน

เครือข่าย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย คณะก้าวหน้า ,กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) , กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) และพรรคก้าวไกล ร่วมเปิดตัวกลุ่ม “Re-solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ด้วยเล็งเห็นว่าทางออกของประเทศคือการร่วมออกแบบและกำหนด “ข้อตกลงใหม่” ที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดย “Re-solution” เป็นความร่วมมือของ 4 กลุ่ม ที่ทำงานผ่านการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2562

สำหรับเป้าหมายหลักของกลุ่ม คือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นพื้นที่ที่โอบรับทุกความใฝ่ฝัน คำนึงถึงทุกคุณค่าของสังคมไทย และเป็นที่บรรจบพบกันของทุกความคิดเห็น โดยให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้กำหนดอนาคตของสังคมที่เขาอยากจะอยู่และส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ซึ่งกลุ่ม Re-solution จะช่วยผลักดันให้เกิดเป้าหมายผ่าน 3 บทบาทหลัก ได้แก่

“พื้นที่” หรือ “Platform” ที่รณรงค์ทางความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ รวบรวมความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม และเป็นตัวกลางในการจัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบข้อตกลงใหม่ของประเทศ , “คลังความคิด” หรือ “Think tank” ที่นำเสนอข้อเสนอก้าวหน้าใหม่ ๆ เพื่อเขย่าอุตสาหกรรมยกร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ที่มักวนเวียนอยู่กับกรอบความคิด วิธีการ และ บุคลากรเดิม ๆ และ เป็น “ยานพาหนะ” หรือ “Vehicle” ที่พร้อมจะเป็นองค์กรรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ในกรณีที่รัฐสภาไม่ยินยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน

ส่วนการใช้ชื่อกลุ่ม “Re-solution” เพราะมีความหมายที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ โดย “Re-solution” หมายถึงการหา “ทางออกใหม่” ให้กับประเทศ ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ , “Resolution” หมายถึง “ข้อยุติ” ที่จะนำให้หลุดพ้นออกจากวิกฤติทางการเมือง ณ ปัจจุบันได้ และ “Resolution” หมายถึง “ปณิธาน” หรือ ความเด็ดเดี่ยว ที่ต้องมี เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

นายปิยบุตร แสงกนกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ถึงเวลาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่” ว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งการปฏิรูปการเมือง เชื่อว่าป็นผลพวงจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสืบเนื่องมา เป็นฉันทามติของคนไทยร่วมกันครั้งสุดท้าย แต่เมื่อใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง ในท้ายที่สุดฉันทามติที่ว่านี้ก็ได้ถูกทำลายลง ขณะที่ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งใช้อำนาจโดยมิชอบ บิดผันรัฐธรรมนูญ แทรกแซงองค์กรอิสระและวุฒิสภา อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าเสียงข้างน้อยใช้กลไกอิสระและอำนาจพิเศษในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ไม่ยอมทำตามกติกาที่มีอยู่

ในวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ตัดสินใจก่อรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง วิกฤติรอบใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันนั้น และเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 เอาไม่อยู่ ก็เกิดรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ในท้ายที่สุดรัฐประหารทั้งสองครั้งก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้แก้ปัญหาที่คณะรัฐประหารทั้งสองชุดอ้างมา ว่าด้วยการแทรกแซงกลไกองค์กรอิสระและการตรจสอบอำนาจรัฐ แต่ยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้หนักขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างองค์กรใหม่ ๆ ขึ้นมาในนามองค์กรอิสระหลายองค์กร แต่ต่อมาก็ได้ถูกบิดผันไปรับใช้ผู้มีอำนาจ จากที่เคยทำให้กำเนิดวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง ก็ถูกดึงกลับสู่การแต่งตั้งอีกครั้ง กลายเป็นส่วนหนึ่งการสืบทอดอำนาจ องค์กรอิสระกลายเป็นเครื่องมือรัฐบาลสืบทอดอำนาจในการปราบปรามผู้เห็นต่าง รัฐธรรมนูญในความหมายที่แท้จริงลึกซึ้ง คือกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการปกครอง กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก่อตั้งโดยประชาชน รัฐธรรมนูญในความหมายนี้ไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่งมอบให้ แต่มาจากประชาชนทั้งผองมาตกลงกันว่าจะมีรัฐธรรมนูญหน้าตาแบบใด

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก เพราะผู้กำหนดรัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ให้ใครมาแก้ ในขณะที่อารมณ์ของสังคมและผู้คนที่สะสมกำลังเอาไว้ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความคิดที่แหลมคมมากขึ้น สะสมมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงปัจจุบัน พลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐธรรมนูญกลับออกแบบไว้ให้เป็นทางตันไม่ให้แก้ได้ เพียงเพราะมีวุฒิสภา 84 คนก็สามารถขวางการแก้ได้แล้ว และต่อให้ผ่านไปได้ก็จะยังมีศาลรัฐธรรมคอยนูญขวางอยู่

“นี่คือวิกฤติการณ์ทางรัฐธรรมนูญ เมื่อมีพลังอยากแก้ เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแต่ไม่สามารถแก้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบเอาไว้ให้มันแก้ยาก แล้ววิกฤติการณ์ทางรัฐธรรมนูญแบบนี้จะออกทางไหน พลังของการแก้ไขเปลี่ยนปลงรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้น ๆ ไม่มีวันลดน้อยถอยลง แล้วมันจะไปจบตรงไหน”

นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า หากรัฐประหารเกิดขึ้นอีก หรือวิกฤติทางการเมืองเดินหน้าไปจนรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้แล้ว เราต้องยืนยันกลับไปว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่กับประชาชนตลอดกาล ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด จะไม่ยอมให้คณะใดคณะหนึ่งฉกฉวยแย่งชิงเอาอำนาจในการก่อตั้งระบอบ สถาปนารัฐธรรมนูญไปจากประชาชนอีกแล้ว

“เมื่อไรเกิดการทำลายรัฐธรรมนูญ 60 ทิ้ง ไม่ว่าจะวิถีทางนอกระบบหรือปราศจากซึ่งความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง หรือคุณจะออกมายึดอำนาจ เมื่อนั้นประชาชนต้องร่วมกันออกมาแสดงพลังเปล่งเสียงไปว่า พวกเราคือผู้ทรงอำนาจสูงสุด เราจะกำหนดชะตากรรมผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยพูดกัน นี่คือสิ่งที่เราพยายามมองข้ามมันไป เราคิดแต่เพียงว่าเราเป็นประชาชน เขาอาจจะเรียกเรามาใช้งานตอนทำประชามติเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญของเขา แต่เราไม่เคยไปถึงจุดที่บอกว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ที่จะกำหนดชะตากรรม กำหนดระบอบการปกครอง กำหนดรัฐธรรมนูญกันเอง ดังนั้น ผมอยากฝากทุกท่านว่าถ้าสถานการณ์สุกงอมไปจนถึงว่ารัฐธรรมนูญ 60 ปราศจากความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง หรือ มีการยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้ว เราต้องร่วมกันยืนยันว่าอำนาจสูงสุดในการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นของพวกเรา”

นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติวงจรรัฐธรรมนูญแห่งการแก้แค้นเอาคืนตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2549 ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องมาแสวงหาข้อตกลงร่วมกันใหม่ เขียนรัฐธรรมนูญร่วมกัน เพื่อยืนยันว่าปัญหาที่มีมาตั้งแต่ปี 2475 จนถึงวันนี้แล้วยังแก้กันไม่จบ นั่นคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในประเทศไทยเป็นของใคร หรือประเทศนี้ใครเป็นเจ้าของกันแน่ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสะสางปัญหานี้ให้ลงตัว แล้วยืนยันว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญเอง เดินหน้าแสวงหาข้อตกลงใหม่ร่วมกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top