งานวิจัยชี้ วัคซีนต้านโควิดยังมีประสิทธิภาพ แม้เจอไวรัสกลายพันธุ์

องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย เผยแพร่การค้นพบซึ่งบ่งชี้ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีศักยภาพต้านโรคโควิด-19

ผลการวิจัยดังกล่าวช่วยคลายความกังวลที่ว่า วัคซีนซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบันจะไม่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ และเป็นสายพันธุ์ที่ล้วนก่อให้เกิดโรคโควิด-19

การศึกษาระบุว่าวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองส่วนใหญ่มีต้นแบบการผลิตมาจากไวรัส “สายพันธุ์ดี” (D-strain) ที่พบมากในการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไวรัสดังกล่าวได้กลายพันธุ์จนเกิดเป็น “สายพันธุ์จี” (G-strain) หรือ “D614G” ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 85% ของจีโนมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)

ทีมวิจัยของ CSIRO ได้ทดสอบไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ในเลือดของพังพอนที่ถูกฉีดวัคซีน “INO-4800” อันเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทอิโนวิโอ ฟาร์มาซูติคัลส์ (Inovio Pharmaceuticals) และพบว่าวัคซีนมีประสิทธิผลต่อทั้งสายพันธุ์ดีและจี

“โลกเข้าใกล้วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการปกป้องและช่วยชีวิตผู้คนไปอีกก้าว” แลร์รี มาร์แชล ผู้บริหารสูงสุดของ CSIRO แถลง “การวิจัยด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในเชิงลึกร่วมกับพันธมิตรทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลกเท่านั้น”

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เอส.เอส.วาซาน (S.S. Vasan) ผู้เขียนหลักของการศึกษาวิจัยดังกล่าว ระบุว่า การค้นพบนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับวัคซีนหลายร้อยตัวที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั่วโลก

“วัคซีนโรคโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการทดลองส่วนใหญ่มุ่งเป้าที่สไปก์โปรตีนหรือโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัส เนื่องจากสไปก์โปรตีนจะไปจับกับตัวรับชนิด ACE2 ที่อยู่ในปอดและทางเดินหายใจของเรา ซึ่งเป็นจุดที่เชื้อจะเข้าสู่เซลล์” วาซานกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top