In Focus: โควิดก็ฉุดไม่อยู่ เมียนมาเดินหน้าจัดเลือกตั้ง 8 พ.ย.

เมียนมากำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พ.ย. 2563 โดยครั้งนี้เป็นการช่วงชิงที่นั่งรวมทั้งสิ้น 1,171 ที่นั่ง ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 330 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภา 168 ที่นั่ง

ขณะที่ในระดับรัฐและระดับท้องถิ่นมี 644 ที่นั่ง และกลุ่มชาติพันธุ์อีก 29 ที่นั่ง โดยพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมีมากถึง 97 พรรค แต่มีพรรคที่โดดเด่นอยู่ไม่กี่พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี และพรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (USDP) ของฝ่ายทหาร ขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้อยู่ที่ราว 37 ล้านคน

ภาพ: รอยเตอร์

บททดสอบ “อองซาน ซูจี”

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบททดสอบนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐคนปัจจุบัน ว่าจะสามารถนำพาพรรค NLD คว้าชัยได้อีกครั้งหรือไม่ หลังจากที่พรรค NLD คว้าเสียงส่วนใหญ่ในสภาในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนเมื่อเดือนพ.ย. 2558 และได้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2559 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. 2564

แม้ว่าจะยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนชาวเมียนมา แต่นางซูจีก็กำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551 ในประเด็นที่อ่อนไหวอย่างการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศจากสหภาพเป็นสหพันธรัฐ และการลดอำนาจของกองทัพในสภา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มองค์กรเอกชนหรือกลุ่มการเมืองภายในประเทศ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาลพล.อ.เต็ง เส่ง

นอกจากนี้ นางซูจียังต้องรับมือกับปัญหาชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่เดินหน้าจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องตนเอง รวมถึงความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยกองทัพอาระกัน ซึ่งพยายามจัดตั้งพื้นที่ปกครองตนเองและปะทะกับกองทัพเมียนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ตลอดจนปัญหาการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลเมียนมากับชนกลุ่มน้อย รวมถึงการแบ่งอำนาจการปกครองระหว่างรัฐบาลกลางกับชนกลุ่มน้อย และล่าสุดคือปัญหาการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ยอดติดเชื้อโควิดพุ่งพรวด

เมียนมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศสองรายแรกเมื่อวันที่ 23 มี.ค. หลังจากนั้นรัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การระงับวีซ่าชาวต่างชาติทุกประเทศ การรณรงค์ให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน การตั้งกรรมการประสานงานกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาด ฯลฯ ซึ่งระยะแรกดูเหมือนว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเมียนมาไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ในรัฐยะไข่เมื่อเดือนส.ค. และเริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศจนยอดผู้ติดเชื้อพุ่งพรวดแบบหยุดไม่อยู่ โดยทะลุ 1,000 รายในวันที่ 4 ก.ย., 5,000 รายในวันที่ 20 ก.ย., 10,000 รายในวันที่ 27 ก.ย., 15,000 รายในวันที่ 3 ต.ค., 20,000 รายในวันที่ 7 ต.ค. และล่าสุดทะลุ 30,000 รายเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเกือบแตะ 700 รายแล้ว

บรรดาพรรคการเมืองในเมียนมาเริ่มเปิดฉากหาเสียงเมื่อวันที่ 8 ก.ย. แต่เมื่อสถานการณ์โควิดย่ำแย่ลง พรรค USDP ของฝ่ายทหารและอีกหลายสิบพรรคที่ส่วนใหญ่สนับสนุนกองทัพ ได้ยื่นหนังสือเพื่อให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยให้เหตุผลว่าโควิดเป็นอุปสรรคต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและอาจส่งผลต่อความปลอดภัยทางสุขภาพ

เดินหน้าเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 21 ก.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาได้ออกมายืนยันว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะยังคงมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. และจะมีการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยเตรียมเพิ่มคูหาเลือกตั้งจากเดิม 40,000 แห่ง เป็น 50,000 แห่ง เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำคูหาจะสวมหน้ากากอนามัย และผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องล้างมือก่อนเข้าคูหา ด้านพรรค NLD ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ยืนยันว่าจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนด เพราะเกรงว่าหากเลื่อนออกไปอาจทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาสาธารณสุขและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ หลายฝ่ายมองว่าหากเกิดความวุ่นวายทางการเมือง กองทัพอาจใช้เป็นเหตุผลในการเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยและจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมารักษาการ และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พรรค NLD ยืนกระต่ายขาเดียวว่าจะจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม แม้โควิดกำลังระบาดอย่างรุนแรง

พรรค NLD เป็นพรรคการเมืองพลเรือนพรรคแรกที่ขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศ หลังจากที่เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมานานกว่า 50 ปี ถึงกระนั้น กองทัพยังคงมีอำนาจทางการเมืองอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรเมียนมาประกอบด้วยสมาชิก 440 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 330 คน และมาจากการคัดเลือกของกองทัพ 110 คน ส่วนวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 224 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 168 คน และมาจากการคัดเลือกของกองทัพ 56 คน นั่นหมายความว่าผู้แทนจากกองทัพมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของสองสภา … การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นศึกใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่พรรค NLD ต้องการให้จบโดยเร็วและไม่ยืดเยื้อ เพื่อเดินหน้าไปสู่การขับเคลื่อนประเทศโดยอิสระอย่างแท้จริง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top