สแตนดาร์ดฯ มองเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัว -8% จับตาทีมเศรษฐกิจ-ปัญหาการเมือง

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 ผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว โดยคาดว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัว -8% และการฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากปัจจัยลบภายในประเทศ ความไม่แน่นอนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศที่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถกระตุ้นการบริโภคได้หรือไม่, การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19, การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ และยังไม่เห็นทางที่ชัดเจนว่าจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวกลับมาได้เมื่อใด ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นเติบโตได้ที่ 2% ในปี 64

นอกจากนี้ยังคาดการณ์การส่งออกปีนี้จะหดตัว -8% แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนก.ย.ที่จะประกาศในสัปดาห์หน้าจะปรับตัวดีขึ้น หรือคาดไว้ว่าจะหดตัวลดลงเหลือ -5% แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่มั่นคง เรื่องจากการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้

“เศรษฐกิจไทยอาจจะดีขึ้นจากตอนต้นปี เพราะต้นปีเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดของไทยวิกฤติที่สุด แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบไม่มั่นใจ แม้ว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัว แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สถานการณ์โควิดในเอเชียดูดีขึ้น แต่สถานการณ์ยังน่ากังวลอยู่ในยุโรป และสหรัฐ”

นายทิมระบุ

พร้อมกันนั้น ยังต้องจับตาทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เพิ่งได้ตัว รมว.คลัง คนใหม่เข้ามารับตำแหน่งว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินได้มากน้อยเพียงใด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงที่ใช้เวลากว่า 3 เดือนจึงจะได้ทีมใหม่ ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร บนพื้นฐานว่าเศรษฐกิจไทยยังติดลบอยู่ ซึ่งประเด็นนี้อาจกระทบต่อการฟื้นตัวได้

สำหรับการเมืองในประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ มองว่า ยังไม่เป็นความเสี่ยงสำคัญ แต่ต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป และเชื่อว่าน่าจะยังไม่กระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก โดยคาดว่าเงินบาทสิ้นปี 63 จะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากสถานการณ์การเมืองเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นก็อาจจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปี 64

ส่วนการใช้นโยบายการเงินในปีนี้มองว่า ตั้งแต่ต้นปี 63 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้นโยบายการเงินเข้ามาช่วยเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 3 ครั้ง ปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% มองว่าการที่ ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกคงเป็นไปได้ยาก แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงในช่วงไตรมาส 4 นี้ โอกาสที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ยไปที่ 0.25% ก่อนสิ้นปี ก็มีความเป็นไปได้

ขณะที่การใช้นโยบายการคลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลังนโยบายการเงินมีข้อจำกัด ซึ่งถือเป็นคีย์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในข่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า แม้ว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือเกิน 45% ต่อ GDP ไปแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสในการใช้นโยบายการคลังอยู่ แต่จะเป็นการใช้ที่ไม่ได้คล่องตัวเหมือนที่ผ่านมา

นายทิม กล่าวว่า หวังว่าในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ และในปีหน้าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ โดยให้จับตาดูทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา และสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งมองว่านโยบายที่จะออกมาควรมุ่งไปที่การสนับสนุน SME เป็นหลัก และต้องเป็นการกระตุ้นที่รวดเร็วใช้ได้ทันทีในไตรมาส 4/63 เนื่องด้วย SME คิดเป็น 40% ของ GDP และยังเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก, เข้าถึงตลาดการเงินได้ยากที่สุด

“เราเพิ่งได้ทีมเศรษฐกิจใหม่หลังจากขาดช่วงไปหลายเดือน การเบิกจ่ายจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากรัฐบาล และจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังอยู่ในระดับไม่สูงมาก ตอนนี้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะติดตามดูสถานการณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทิศทางจากกระทรวงการคลัง การเบิกจ่าย การลงทุนของรัฐบาลที่ควรจะนำร่องภาคเอกชนให้มีการลงทุนภายในประเทศ การเมือง การเปิดประเทศ การพัฒนาวัคซีนต้านโควิด”

นายทิม ระบุ

อีกทั้งการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ น่าจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้ตั้งแต่ปี 64 เป็นต้น โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ คาด GDP ของไทยจะกลับไปเติบโตใกล้ 3% ได้ภายใน 1-2 ปีจากนี้ และคาดว่าอีก 3-5 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาที่ระดับ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับในช่วงก่อนโควิด-19 โดยประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์เน้นที่มูลค่าการใช้จ่ายต่อหัว มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว และพยายามลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top