ESSO ตั้งงบปี 64 ที่ 1.2-1.5 พันลบ.ลงทุนโรงกลั่น-ขยายปั๊มรุกค้าปลีก

นายอดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนปี 64 ที่ราว 1.2-1.5 พันล้านบาทใกล้เคียงกับปีนี้ เพื่อใช้รองรับการลงทุนธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และขยายสถานีบริการน้ำมัน เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันภาพรวมให้ลดลง

สำหรับธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ปัจจุบันมีสถานีบริการ 676 แห่งและจะเพิ่มเป็น 690 แห่งในสิ้นปีนี้ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็นกว่า 700 แห่งในปี 64 ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดราว 11-12% เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ขณะเดียวกันยังมุ่งสร้างรายได้อื่นผ่านพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็ง ด้วยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการเพิ่มร้านค้าและบริการในสถานีบริการน้ำมัน โดยล่าสุดร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มไมเนอร์ฟู้ด เปิดร้านกาแฟใหม่ภายใต้ชื่อ Coffee Journey ซึ่งวางเป้าหมายจนถึงสิ้นปีนี้จะมีสาขาทั้งสิ้น 12-15 แห่ง และจะขยายความร่วมมือมากขึ้นในสถานีบริการน้ำมันที่จะเปิดใหม่ และสถานีบริการน้ำมันที่หมดสัญญากับร้านกาแฟเดิมเพื่อขยายเป็นธุรกิจนอนออยล์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันภาพรวมของประเทศให้ลดลงจากภาวะปกติที่ความต้องการใช้น้ำมันจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตปีละประมาณ 4-5% แต่ในปีนี้หลายหน่วยงานคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง 7-8% ก็น่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของไทยหดตัวลงสอดคล้องกัน ซึ่งรวมถึงปริมาณการขายน้ำมันตลาดค้าปลีกของบริษัทด้วย แม้ว่าล่าสุดความต้องการใช้น้ำมันจะกลับมาราว 90% ของช่วงก่อนโควิดแล้วก็ตาม

แต่เมื่อรวมปริมาณการขายผ่านธุรกิจพาณิชยกรรมยังเป็นช่องทางการขายที่สร้างรายได้ได้ดี และยังสามารถเพิ่มยอดขาย 4% จากกลุ่มลูกค้าสำคัญ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดธุรกิจน้ำมันโดยรวมของเอสโซ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจโรงกลั่นยังเป็นการลงทุนต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยบริษัทปรับแผนการกลั่นน้ำมันเพื่อให้มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ในแต่ละช่วงเวลา ปัจจุบันที่ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานลดลงอย่างมากจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้บริษัทได้หยุดการกลั่นน้ำมันอากาศยานตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมกลั่นอยู่ 1.1-1.2 หมื่นบาร์เรล/วัน และหันมากลั่นน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กลั่นอยู่ 4.5-5.0 หมื่บาร์เรล/วัน ขณะที่กลั่นน้ำมันเบนซิน ระดับ 2.2-2.5 หมื่นบาร์เรล/วัน

อย่างไรก็ตาม การที่ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานที่หายไป ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งหันมากลั่นน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มาร์จิ้นของดีเซลลดลง ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาที่จะหันมากลั่นเป็นน้ำมันเบนซินทดแทน เนื่องจากหน่วย Fluidised Catalyst Cracking Unit (FCCU) ของบริษัทสามารถดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับมาร์จิ้นของแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วย

นอกจากนี้บริษัทยังได้เตรียมความพร้อมปรับปรุงโรงกลั่นเพื่อรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 และยืนยันว่าจะสามารถผลิตน้ำมันได้ตามมาตรฐานดังกล่าวที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.67 ได้อย่างแน่นอน

นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าที่บริษัท เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอ็กซอนโมบิล) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนปิโตรเคมีในไทยนั้น ขณะนี้ได้ชะลอการศึกษาเพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และบริษัทพลังงานทั่วโลกต่างลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นเดียวกับในส่วนของเอสโซ่ในไทยที่มีการลดค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ลงได้เป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวยังมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรอบสอง อาจจะทำให้มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยได้

ตามข้อมูลจาก FGE ซึ่งเป็นบริษัทชำนาญการด้านปิโตรเลียม ประเมินค่าการกลั่นน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำราว ติดลบ 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ไปจนถึงข่วงเดือนก.พ.64 จากสถานการณ์โควิด-19 และการที่โรงกลั่นทั่วโลกต่างลดการผลิตน้ำมันอากาศยานและหันมาผลิตดีเซลทดแทน ทำให้มาร์จิ้นดีเซลลดต่ำลง โดยส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลและราคาน้ำมันดิบปัจจุบันอยู่ที่ราว 3-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีที่แล้วอยู่ที่ราว 14-15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top