เน็คซ์ แคปปิตอล เตรียมขาย IPO 300 ล้านหุ้นเข้าเทรด SET ปีนี้หลังนับหนึ่งไฟลิ่ง

นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ของ บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของ NCAP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น โดยคาดจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปีนี้

สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อนำไปใช้ลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อ และระบบสนับสนุนการทำงาน สัดส่วน 5% ใช้คืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินสัดส่วน 15% และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจสัดส่วน 80% ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินดังกล่าวภายในปี 2564

ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NCAP ประกอบด้วย บมจ.คอมเซเว่น (COM7) มีสัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 40% และ 26.67% ตามลำดับ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) สัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 40% และ 26.67% ตามลำดับ ขณะที่วิสต้า อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด สัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 7.50% และ 5% ตามลำดับ โดยจำนวนหุ้นที่ติด Silent Period ในครั้งนี้สัดส่วน 55% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO โดยหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ COM7 และ SYNEX ติด Silent ทั้งหมด สะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนบริษัทในระยะยาว

ด้านนายสมชัย ลิมป์พัฒนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ NCAP ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยที่ต้องการเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์เป็นหลัก ด้วยการซื้อรถจากตัวแทนจำหน่าย (Dealer) แล้วนำมาให้ลูกค้าเช่าซื้อ โดยมี ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ (Hire Purchase) เป็นธุรกิจหลัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 99% ของมูลค่าลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรวม กำหนดระยะเวลาให้สินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถจักรยานยนต์ทุกรุ่นทุกยี่ห้ออยู่ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 12-48 เดือน

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีจำนวนสาขาทั้งหมด 24 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคใต้ที่มีตัวแทนจำหน่ายรถเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ ในพื้นที่ต่าง ๆ ประมาณ 600 ราย มีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีประมาณ 100,000 ราย และแม้จำนวนบัญชีในปี 2563 ไม่ได้เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่กำไรบริษัทฯ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกระบวนการจัดการภายในที่ดีขึ้น ในการอนุมัติและติดตามสินเชื่อใหม่ที่คล่องตัว

สำหรับในอนาคต บริษัทมีแผนขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด และแผนการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านค้าและตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมหัวเมืองจังหวัดต่างๆ ที่สำคัญ โดยมีแผนจะขยายในปี 64 จำนวน 1 แห่ง และในปี 65 จำนวน 2 แห่ง รวมทั้งการลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อใช้ในการดำเนินงานทุกส่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ได้แก่ ระบบ Mobile Application คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 63 ระบบ Credit Scoring คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 63 และระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (ERP) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 64 โดยมั่นใจว่า ภายหลังระบบดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ขยายสินเชื่อใหม่ได้อย่างก้าวกระโดดในปี 64 และคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในระบบสารสนเทศรวมประมาณ 30-40 ล้านบาท

ด้านผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 63 มีรายได้รวม 561.89 ล้านบาท เติบโตขึ้น 18.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะมีจำนวนสัญญาใหม่ที่ลดลงก็ตาม โดยเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ต่อเนื่องของสัญญาใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ที่รับรู้ต่อเนื่องมายังช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ และการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น ได้แก่ หนี้สูญรับคืนที่บริษัทสามารถติดตามทวงถามได้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงกระบวนการติดตามและทวงถามหนี้ที่ดีตั้งแต่ช่วงกลางปี 62 เป็นต้นมา และสนับสนุนให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 70.65 ล้านบาท เติบโต 30.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิในงวด 6 เดือนปี 63 และงวด 6 เดือนปี 62 เท่ากับ 12.57% และ 11.45% ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นๆ และการลดลงของอัตราดอกเบี้ยจ่ายของบริษัท

“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมรายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น แม้ปีนี้ต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้วอลุ่มการปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความพร้อมในการบริหารจัดการที่ดี ทำให้บริษัทยังคงความสามารถในการทำกำไรในช่วงครึ่งปีแรก เรามีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 30% และแนวโน้ม NPL ที่สามารถคุมได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ NPL ของบริษัทในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม

ขณะที่จุดแข็งในด้านความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย ซึ่งยังคงมีความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาต่ำกว่ารถประเภทอื่น รวมถึง ความจำเป็นที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพทั้งธุรกิจขนส่งและอาหาร เป็นโอกาสให้บริษัทฯ ขยายสินเชื่อใหม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสัดส่วนพอร์ต Honda ที่คาดจะเพิ่มขึ้นตามความนิยมของตลาด อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็ว รวมถึง อบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อสนับสนุนการเติบโตให้ก้าวกระโดดในปี 64 และมั่นคงในระยะยาว”

นายสมชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top