ดีอีเอสแจ้งความสื่อโซเชียลฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 58 ราย

พบปลุกระดมผ่านทวิตเตอร์ทำลายทรัพย์สิน

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการเฝ้าระวังการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พบการกระทำความผิดเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ทุกด้าน ทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอเรื่องขอความเห็นชอบต่อศาลให้มีคำสั่งปิดกั้น หลังจากนั้นประสานการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ต.ค.63 กระทรวงดีอีเอสได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุม ในการประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคง พิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประสานงานการตรวจพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดต่อ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ และดำเนินการร้องขอคำสั่งศาลในการระงับหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย

“ที่มีข่าวว่าปิดทั้งระบบนั้นคงไม่ใช่ จะปิดเฉพาะที่กระทำผิดชัดแจ้ง ช่วงสองวันที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดที่เป็นต้นโพสต์ที่ผิดชัดแจ้ง 58 ราย เมื่อวาน 46 ราย วันนี้อีก 12 ราย เราจะทำอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบผู้ใช้งานในวงกว้าง”

นายภุชพงค์ กล่าว

รองปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า การดำเนินการนั้นจะมีทั้งความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอื่นๆ เช่น ป.วิอาญา โดยบางรายมีคำสั่งศาลแล้ว บางรายใช้อำนาจหัวหน้า กอร.ฉ.ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

ส่วนกรณีแอพลิเคชั่นเทเลแกรม (Telegram) ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดีอีเอส ตรวจพบการใช้แอพลิเคชั่นดังกล่าวในการนัดหมาย เชิญชวนชุมนุม เข้าข่ายฝาฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงแจ้งเรื่องต่อไปยัง ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงรับทราบ

หลังจากนั้น ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งที่ 11/2563 เรื่อง ระงับการเผยแพร่ข้อมูลหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดีอีเอสดำเนินการกับข้อมูลในเทเลแกรม ซึ่งโดยกระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินการตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตามขั้นตอนตามกฎหมาย และมีการขอความเห็นชอบต่อศาลมาโดยตลอด ไม่มีการทำเกินอำนาจหน้าที่ หรือเลือกปฏิบัติ โดยเคารพสิทธิการเข้าถึงสื่อทุกประเภทของประชาชนโดยเสรี ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า นอกจากการบิดเบือนข้อมูลในลักษณะเฟคนิวส์แล้ว ยังพบการกระทำความผิดจากผู้ไม่หวังดีที่ใช้บัญชีปิดบังตัวตนปลุกระดมยุยงมวลชนให้ใช้วิธี looting ในพื้นที่ชุมนุม ด้วยการปล้นสะดม ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ พรือทรัพย์สินของประชาชน เหมือนในต่างประเทศเพื่อยกระดับการชุมนุม ซึ่ง กอร.ฉ.มีความเป็นห่วง จึงขอแจ้งเตือนผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่าหลงเชื่อตกเป็นเครื่องมือ นอกจากจะฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ยังเป็นความผิดในคดีอาญาอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top