SCB กำไร Q3/63 ลด 69% จากงวดปีก่อนจากตั้งสำรองฯสูง ,NPL เพิ่มเป็น 3.32%

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ของปี 2563 จำนวน 4,641 ล้านบาท ลดลง 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองปกติที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ และการเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายการกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิลดลง 56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 22,252 ล้านบาท ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ของปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,724 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมา และการหดตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งเป็นผลส่วนใหญ่จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3% จากสิ้นปี 2562

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยประเภทเกิดประจำ (recurring) ในไตรมาส 3 ของปี 2563 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,747 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ยากลำบาก อย่างไรก็ตามรายได้รวมของธนาคารยังคงได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 3 ของปี 2563 ปรับสูงขึ้นเป็น 46%

นอกจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพตามปกติ ธนาคารได้ทำการประเมินคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดอย่างรอบคอบ เพื่อทำการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และมีแนวโน้มสูงที่จะฟื้นตัวไม่ได้ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นจาก 3.05% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไตรมาส 3 ของปี 2563 ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 12,955 ล้านบาท โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 146% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ของ SCB กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัว แต่ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนและมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน ตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าแล้วกว่า 1.1 ล้านราย คิดเป็นยอดสินเชื่อภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมประมาณ 840,000 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3 ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และสำหรับลูกค้าที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ธนาคารยังคงให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ลูกค้าผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้

นอกจากนี้ธนาคารได้เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ www.SCBShopDeal.com เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและธนาคารอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเปิดตัวเชิงพาณิชย์ของแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหาร ROBINHOOD เร็วๆ นี้ ในขณะเดียวกันธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลและการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเร่งการพัฒนารูปแบบในการทำธุรกิจใหม่ด้านดิจิทัล และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top