In Focus: ส่องอนาคตความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน หากไบเดนคว้าชัยเลือกตั้งสหรัฐ

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 14 วันก่อนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ซึ่งผลสำรวจของโพลทุกสำนักต่างฟันธงว่า นายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต จะคว้าชัยชนะเหนือนายโดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าของเก้าอี้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรครีพับลิกัน และหากนายไบเดนได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจริงๆ

ประเด็นที่ตลาดและนักลงทุนทั่วโลกจับตามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นจุดยืนของนายไบเดนที่มีต่อจีน หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ได้ประกาศศึกสงครามรอบด้านกับจีนทั้งการค้า เทคโนโลยี และการเมืองตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

ภาพ: รอยเตอร์

In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปส่องอนาคตความสัมพันธ์และท่าทีของสหรัฐที่มีต่อจีน หากนายไบเดนได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46

ย้อนรอยความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

“สหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประเทศพันธมิตรกำลังโดดเดี่ยวเรา นโยบาย America First ทำให้อเมริกาถูกโดดเดี่ยว” นี่คือถ้อยแถลงของนายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการทูตแบบทรัมป์ ที่ส่งผลให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับหลายประเทศย่ำแย่ รวมถึงคู่แข่งอย่างจีน โดยตลอดระยะการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศเปิดศึกกับจีนรอบด้านตั้งแต่การทำสงครามการค้ากับจีนซึ่งลงเอยด้วยการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่กำหนดให้จีนต้องซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2565 ตลอดจนการดำเนินมาตรการกีดกันบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เช่น หัวเว่ย ติ๊กต็อก และอีกหลายบริษัท โดยอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ

นอกจากด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแล้ว ปธน.ทรัมป์ยังหยิบยกประเด็นการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างรุนแรง หลังจากที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง โดยสหรัฐได้ตอบโต้กลับด้วยกฎหมายการยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกง คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนและฮ่องกง ประณามจีนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ และทวีความโกรธให้กับจีนมากขึ้นด้วยการดำเนินนโยบายทางการทูตกับไต้หวัน ซึ่งขัดต่อหลักการจีนเดียว มิหนำซ้ำ สหรัฐยังส่งทหารเข้าไปประจำการในทะเลจีนใต้ เพื่อคุ้มครองอาณาเขตและการเดินเรือ ท่ามกลางการแผ่อิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในบริเวณดังกล่าว

ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนภายใต้คณะบริหารของทรัมป์ตกต่ำลงอย่างมาก ดังนั้น หากไบเดนคว้าชัยจากศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาก็จะต้องเผชิญกับผลกระทบและความยุ่งเหยิงที่ทรัมป์สร้างไว้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สำหรับแนวทางและการดำเนินกลยุทธ์กับจีนนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ไบเดนก็จะยังคงมีแนวทางการปฎิบัติบางประการที่แข็งกร้าวกับจีนแบบเดียวกันทรัมป์ ทว่าสิ่งที่ต่างออกไปอาจจะเป็นเรื่องของวิธีทางการทูต

สก็อตต์ เคนเนดี ที่ปรึกษาอาวุโสและประธานผู้ดูแลด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ของจีนที่ CSIS แสดงความเห็นว่า ไบเดนอาจดำเนินกลยุทธ์บางอย่างตามทรัมป์ เช่น การควบคุมการส่งออก และการจำกัดการลงทุน แต่วิธีดำเนินการจะต่างกันอย่างมาก โดยเขาระบุว่า “ไบเดนจะผสมผสานระหว่างความร่วมมือและการกดดันจีน รวมถึงการร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศพันธมิตร”

ส่องอนาคตสงครามการค้า

ปฎิเสธไม่ได้ว่า สงครามการค้าของทรัมป์และจีนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งยังกลายมาเป็นชนวนความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่าง 2 ขั้วประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ

แม้ว่าไบเดนจะเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน แต่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตผู้นี้กลับมีความคิดเห็นบางอย่างที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับทรัมป์ นายไบเดนมองว่า จีนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปฎิบัติด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่เขาไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการค้าเฟสแรกของทรัมป์ เพราะมองว่าไม่ได้ช่วยยับยั้งการปฏิบัติดังกล่าวของจีนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังหันกลับมาเล่นงานเกษตรกรและแรงงานชาวอเมริกันเสียเอง

ดังนั้น แทนที่จะมุ่งเป้าเพิ่มกำแพงภาษี ไบเดนจะเลือกแนวทางที่ต่างออกไป นั่นก็คือ การผนึกกำลังกับชาติประชาธิปไตยเพื่อกดดันและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของจีน โดยไบเดนระบุว่า

“เมื่อเรารวมกลุ่มกับประเทศพันธมิตรประชาธิปไตย ความแข็งแกร่งของเราจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ผมคิดว่าจีนไม่สามารถที่จะเพิกเฉยกับเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกได้”

นี่จึงสะท้อนให้เห็นแนวทางการทำงานร่วมกับนานาชาติในเวทีโลก ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของทรัมป์ที่ต้องการแยกอเมริกาออกมา

“ฝ่ายบริหารของไบเดนจะเน้นการให้ความสำคัญกับปัญหา และร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรมากขึ้น” ขณะที่แมกซ์ เบาคัส อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีน เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐจะกลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยการดำเนินนโยบายการทูตแบบเงียบ (quiet diplomacy) รวมถึงการร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรของสหรัฐในตะวันตก ตลอดจนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย”

เอ็ดเวิร์ด อัลเดน เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศด้านการค้ากล่าว

ดังนั้น ไบเดนจึงมองว่าการละเลยกลุ่มพันธมิตรเป็นช่องโหว่ของทรัมป์ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวอาจมีส่วนสำคัญที่จะทำให้จีนสามารถยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐ โดยเคลย์ตัน ดูบ ผู้อำนวยการสถาบันสหรัฐและจีนจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนียกล่าวว่า แนวทางที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรที่สามารถไว้วางใจได้เพื่อแสดงให้เห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงจะส่งผลดีกับจีน และความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอันตรายกับจีน”

จับตาสงครามเทคโนโลยี

นอกจากปัญหาด้านค้านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วของจีนได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงสหรัฐ โดยสหรัฐอ้างว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนทำงานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และนำข้อมูลและพฤติกรรมทางเทคโนโลยีของพลเมืองสหรัฐไปใช้โดยมิชอบ สหรัฐจึงพยายามกีดกันบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านั้น เช่น หัวเว่ย และติ๊กต็อก

แม้ว่านโยบายด้านการรับมือกับบริษัทเทคโนโลยีของจีนยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด แต่ไบเดนได้สัญญาว่าจะรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ และพร้อมเผชิญหน้ากับความพยายามของจีนที่จะคุกคามผ่านการโจมตีทางไซเบอร์ การบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี รวมถึงการล่อลวงให้นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเข้าไปทำงานที่จีน ไบเดนระบุว่า “สหรัฐจำเป็นต้องแสดงความแข็งกร้าวกับจีน หากจีนหาช่องทางที่จะปล้นเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐและบริษัทอเมริกัน”

เจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาของไบเดน แสดงความเห็นต่อข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีว่า สหรัฐจำเป็นต้องปกป้องความได้เปรียบทางเทคโนโลยี เมื่อเผชิญกับการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของจีน

ขณะเดียวกัน ซัลลิแวนได้กล่าวสนับสนุนข้อจำกัดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการหมุนเวียนของการลงทุนด้านเทคโนโลยีและการค้า ทว่าต้องพิจารณาตามปัจจัยด้านความมั่นคงและสิทธิมนุษยชนมากกว่าผลประโยชน์ด้านการค้า เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่มากเกินไปอาจส่งผลเสีย ซึ่งทำให้ประเทศอื่นหันหน้าเข้าหาจีนแทน

นอกจากมาตรการป้องกันแล้ว ไบเดนยังตั้งใจที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่ตามแผนเศรษฐกิจ Buy American ที่เน้นให้ซื้อสินค้าทุกหมวดจากบริษัทของอเมริกาเป็นหลัก โดยแผนการดังกล่าวใช้เงินมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์สำหรับเทคโนโลยีในอนาคต ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า และวัสดุน้ำหนักเบา ไปจนถึงเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์

นโยบายรับมือการรุกรานของจีน

นอกจากสงครามเศรษฐกิจและเทคโนโลยี สหรัฐพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อตอบโต้ต่อการรุกรานของจีนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง การคุกคามไต้หวัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และปฎิบัติการทางทหารในทะเลจีนใต้

นายไบเดนกล่าวย้ำถึงจุดยืนที่หนักแน่นในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทั้งกรณีของฮ่องกงและชาวอุยกูร์ โดยระบุว่า

“ผมมีแนวทางที่ชัดเจนและแน่วแน่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน รวมถึงปฎิบัติการทางทหารในทะเลจีนใต้ ผมจะไม่ยอมอ่อนข้อกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน ผมพร้อมที่จะผนึกกำลังกับพันธมิตรที่เป็นเสมือนกุญแจสำคัญในการต่อต้านจีน”

คณะที่ปรึกษาของไบเดนชี้ว่า นโยบายแยกอเมริกาซึ่งเพิกเฉยกับชาติพันธมิตรและองค์กรนานาชาติของทรัมป์นับเป็นจุดบอดที่สำคัญ แม้สหรัฐพยายามเพิ่มกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้เพื่อควบคุมน่านน้ำยุทธศาสตร์มากขึ้นก็ตาม ทว่ากลับไม่ได้รับผลเท่าที่ควร โดยแพทริค โครนิน ประธานด้านความมั่นคงแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสถาบันฮัดสันกล่าวว่า แนวทางของไบเดนจะไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการเผชิญหน้ากับนโยบายที่แข็งกร้าวของจีน แต่จะผนึกกำลังกับชาติพันธมิตรของสหรัฐเพื่อมุ่งฟื้นฟูบทบาทและความเป็นผู้นำของสหรัฐผ่านทางการคลายความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทของชาติพันธมิตรกับจีน

นักวิเคราะห์มองว่า ไบเดนและพรรคเดโมแครตตระหนักดีถึงการรุกรานของจีนที่แข็งกร้าวมากขึ้น ทว่าสิ่งที่แตกต่างออกไปอาจเป็นวิธีที่มีความซับซ้อนและมีชั้นเชิงมากกว่าเดิม โดยเฉิง เสี่ยวเหอ รองศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินกล่าวว่า ไบเดนจะดำเนินมาตรการที่แข็งข้อแบบทรัมป์ แต่จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น เขาจะใช้กลยุทธ์ที่มีความสลับซับซ้อนและสอดคล้องกับจีนมากขึ้น

สำหรับประเด็นไต้หวันที่มีความละเอียดอ่อนนั้น นักวิเคราะห์ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ไบเดนไม่สามารถตัดความสัมพันธ์จากไต้หวัน เพราะทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างก็สนับสนุนไต้หวัน ทว่าแรงสนับสนุนจะมากหรือน้อยคงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ระหว่างไต้หวันและจีน โดยราฟิก โดซานี ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเอเชียแปซิฟิกระบุว่า ตัวขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับไต้หวันนั้นไม่ใช่สหรัฐ แต่กลับเป็นความสัมพันธ์ของไต้หวันกับจีนเองต่างหาก

จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครฟันธงได้แน่นอน 100% ว่า ไบเดนจะคว้าชัยจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่ทุกคนทราบดีก็คือ คงไม่มีความสัมพันธ์อันดีแบบเดิมระหว่างสหรัฐและจีนอีกต่อไปแล้ว จีนได้ก้าวผ่านจุดที่จะไม่หวนกลับและกล้าที่จะท้าทายกับสหรัฐมากขึ้นทั้งด้านอำนาจทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก… ก็เหลือแค่ต้องรอลุ้นกันว่า ชาวอเมริกันจะเลือกใครขึ้นมาต่อกรกับจีน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top