In Focus: วิกฤตไวรัสโคโรนา พ่นพิษเศรษฐกิจจีนป่วย อาจฉุด GDP โลกฟุบตาม

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า COVID-19 นั้น จนถึงขณะนี้ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในประเทศจีนซึ่งเป็นต้นตอของเชื้อมรณะดังกล่าว และได้ขยายวงกว้างไปอีก 27 ประเทศ รวมถึงไทย

โดยไวรัสดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เพราะไม่ใช่แค่จะทำให้ผู้คนหวาดกลัวกับพิษภัยของโรคและความตายที่เกิดจากไวรัสดังกล่าวเท่านั้น แต่เชื้อโรคร้ายนี้ยังอาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจจีน และลามไปยังเศรษฐกิจโลก ซึ่งก็จะสร้างความปั่นป่วนให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนบนโลกใบนี้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปวิเคราะห์กันว่า ไวรัสอุบัติใหม่ตัวนี้ นอกจากจะทำให้ชาวโลกล้มป่วยและเสียชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น ยังอาจส่งผลร้ายทางอ้อมต่อชาวโลกที่รอดพ้นจากการติดเชื้ออย่างไรบ้าง

อัพเดทยอดผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีน

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงวันนี้ว่า ณ วันอังคารที่ 11 ก.พ. มีผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนเพิ่มขึ้นอีก 97 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1,113 ราย ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 2,015 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 44,653 ราย

ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า ยอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เฉพาะในประเทศจีน ได้แซงหน้าโรคซาร์ส (SARS) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2545-2546 ไปแล้วด้วยระยะเวลาการระบาดภายในเวลาเพียงแค่เดือนกว่าๆ ขณะที่โรคซาร์สที่มีระยะเวลาการแพร่ระบาด 8 เดือนนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 774 ราย และมีผู้ติดเชื้อ 8,096 ราย

ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น โรคซาร์สเคยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกประมาณ 3.0-5.0 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกที่ระดับประมาณ 35 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ถือว่าผลกระทบของซาร์สก็แค่น้ำหยดเดียวในมหาสมุทร

ส่วนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีอัตราการระบาดเร็วกว่าซาร์ส โดยเป็นการแพร่เชื้อจากคนสู่คน และติดเชื้อระหว่างกันได้ แม้กระทั่งจากผู้ที่ไม่ได้แสดงอาการป่วยก็ตาม และเนื่องจากในขณะนี้ จีนมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดมากกว่าในช่วงที่โรคซาร์สระบาด จึงอาจประมาณการได้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าซาร์ส

ความสำคัญของจีนต่อเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาจนทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก โดยมีมูลค่า GDP ราว 13.6 ล้านล้านดอลลาร์ รองจากสหรัฐที่มีมูลค่า GDP ราว 20.5 ล้านล้านดอลลาร์

จีนเป็นผู้ค้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และกำลังไล่ตามสหรัฐในการเป็นผู้ส่งออกภาคบริการเพื่อการพาณิชย์หลังจากที่มีการขยายตัวถึง 18% ในปี 2561 นอกจากนี้ บริษัทของจีนยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จำนวนมาก และตลาดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ดึงดูดธุรกิจต่างชาติให้เข้าไปเปิดโรงงานในจีน, เข้าร่วมลงทุนในเครือข่ายการขนส่งระดับท้องถิ่น และเปิดร้านค้าจำนวนมากในจีน

จีนเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลายของโลก โดยมีการส่งออกวัตถุดิบจำนวนมากของโลกไปยังจีนก่อนที่จะถูกแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในปีที่ผ่านมาด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนหลายพันล้านดอลลาร์นั้น ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วถึงอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

ไวรัสโคโรนากระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในจีนต้องปิดทำการเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์นับตั้งแต่วันหยุดเทศกาลตรุษจีน เมื่อไวรัสโคโรนาเริ่มแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ยทางภาคกลางของจีน ขณะที่โรงงานหลายแห่งเริ่มกลับมาเปิดการผลิตแล้วเมื่อวานนี้ แต่บางแห่งก็ยังจะปิดทำการไปจนถึงวันที่ 14 ก.พ.เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่วนประชาชนหลายสิบล้านคนในหลาย ๆ เมืองทั่วประเทศจีนก็ยังคงถูกปิดกั้นการเดินทางเข้าออก

โรงงานผลิตรถยนต์, ท่าเรือต่างๆ, ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งร้านกาแฟต่างก็ต้องปิดทำการ เพราะหวาดผวากับเชื้อไวรัสโคโรนาที่ระบาดอย่างรวดเร็ว

อู่ฮั่นซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรราว 11 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางของไวรัสโคโรนาระบาดนั้น นับเป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่, เป็นฟันเฟืองที่สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์, เป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในจีน และยังเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศด้วย

เป็นไปไม่ได้เลยที่ภาวะชะงักงันที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่นจะไม่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจของจีน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้ออกมายอมรับแล้วกับผลกระทบที่ร้ายแรงดังกล่าว ขณะที่รัฐบาลจีนก็ได้เพิ่มความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ และสั่งภาคธนาคารให้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ

ไวรัสมรณะฉุดเศรษฐกิจจีนโดยรวม

สำนักงานสถิติจีนเปิดเผยว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี โดยดิ่งลงจากระดับ 10.2% ที่เคยทำไว้ในปี 2553 และในขณะที่จีนกำลังมีความหวังว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 2563 หลังจากที่จีนสามารถทำข้อตกลงยุติสงครามการค้ากับสหรัฐที่ยืดเยื้อมานานได้แล้วนั้น ไวรัสโคโรนาซึ่งอุบัติขึ้นไม่นานหลังจีน-สหรัฐลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกนั้น กลับกลายมาเป็นหายนะใหม่ที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนให้ย่ำแย่ลงอีก

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะขยายตัวมากกว่า 5% โดยอิงกับสถานการณ์ไวรัสที่แพร่ระบาดในขณะนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค, ภาคธุรกิจ และรัฐบาลจีน

แต่ซาง หมิง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสังคมศาสตร์จีนมองโลกในแง่ร้ายมากกว่านั้น โดยเขาเปิดเผยกับนิตยสารไคจิงว่า การขยายตัวของ GDP จีนในไตรมาส 1/2563 อาจอยู่ที่ประมาณ 5% และอาจเป็นไปได้ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะร่วงลงต่ำกว่าระดับ 5% หากการระบาดของเชื้อไวรัสอู่ฮั่นยังคงดำเนินต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น เดียนา ชอยลีวา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอีโนโด อีโคโนมิกส์ ยังมองในเชิงลบยิ่งกว่า เพราะเธอเชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของจีนในปี 2562 อาจอยู่ใกล้ระดับ 3.7% ดังนั้นในปี 2563 ซึ่งจีนเจอไวรัสป่วน ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะต่ำกว่านั้นอีก

นักวิเคราะห์บางรายยังมองแย่ไปกว่านั้น โดยเตือนว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุดนั้น เศรษฐกิจจีนอาจถึงขั้นติดลบเลยทีเดียว

บรรดานักลงทุนที่หวังว่า ทันทีที่จีนสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาได้ เมื่อนั้นเศรษฐกิจก็จะดีดตัวขึ้น อาจจะผิดหวังก็ได้ โดยชอยลีวาระบุว่า อุตสาหกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลจีนดำเนินการ กำลังเผชิญกับภาวะหนี้เสียในระดับสูง ซึ่งถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนมานานหลายปี ธนาคารกลางจีนได้เริ่มอัดฉีดเม็ดเงินพิเศษเข้าสู่เศรษฐกิจแล้วเพื่อสนับสนุนด้านการกู้ยืมเงินในช่วงที่ไวรัสระบาด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เพื่อช่วยในด้านการลงทุนทางธุรกิจ แต่ชอยลีวากลับมองว่า เม็ดเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและมีปริมาณมากนั้น ส่วนใหญ่กลับถูกใช้ไปเพื่อช่วยพยุงบรรดาเหล่าบริษัทซอมบี้หรือบริษัทที่มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ไม่ให้ล้มละลาย

อุตสาหกรรมใดเผชิญอาการป่วยร่อแร่ที่สุด

อุตสาหกรรมแรกๆ ที่เผชิญกับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็คืออุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว เพราะมีการยกเลิกเที่ยวบินและการจองโรงแรมในจีน ขณะที่ทั่วภูมิภาคเอเชียซึ่งต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน หลังจากที่รัฐบาลจีนสั่งปิดการเดินทางเข้าออกจากเมืองใหญ่ๆ ในภาคกลางของจีน รวมไปถึงการเดินทางจากจีนไปยังฮ่องกง สายการบินต่างๆ ได้พากันปรับลดการให้บริการ อาทิ สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก ได้ยกเลิกเที่ยวบินลง 1 ใน 3 และเรียกร้องให้พนักงานลางานหลายสัปดาห์โดยไม่จ่ายค่าจ้าง

นีล เชียหริง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินลดฮวบ 55% เมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนปี 2562 และเมื่อพิจารณาจากการที่นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการท่องเที่ยวในประเทศแถบเอเชีย การสั่งห้ามการเดินทางจึงส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค

หากวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงดำเนินต่อไป ผลกระทบก็จะลามไปทั่วโลก ทั้งนี้ เพราะจากข้อมูลสถิตินั้น ชาวจีนเดินทางโดยเครื่องบินถึง 173 ล้านเที่ยวในรอบ 12 เดือนที่นับถึงเดือนก.ย. 2562 และมียอดใช้จ่ายรวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นใดในโลกนี้

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั่นแค่เริ่มต้น แต่ผลกระทบที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ทั้งในภาครถยนต์, อิเล็กทรอนิก และอุตสาหกรรมต่างๆ บรรดาบริษัทเดินเรือรายงานปริมาณการขนส่งที่ร่วงลง ขณะที่จีนมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่มหาศาลสำหรับธุรกิจค้าปลีก, อาหารและเครื่องดื่ม โดยสตาร์บัคส์ซึ่งมีร้านขายกาแฟในจีน 4,000 แห่งนั้น ก็ได้สั่งปิดร้านไปกว่าครึ่งเพราะการระบาดของไวรัสโคโรนา

ตลาดหุ้นทั่วโลกระส่ำจากพิษไวรัสโคโรนา

ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนักในช่วงแรกที่รับรู้ข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะหุ้นค้าปลีก, หุ้นธุรกิจบริการผู้บริโภค และธุรกิจการขนส่ง, กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และกลุ่มสินค้าหรูหรา แต่ต่อมาตลาดต่างๆ ก็ฟื้นตัวขึ้นได้จากความหวังที่ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะสามารถควบคุมได้

ด้านราคาน้ำมันก็เผชิญแรงกดดันด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากไวรัสนี้ จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง เช่นเดียวกับวัตถุดิบอื่นๆ เพราะจีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นผู้ใช้โลหะรายใหญ่ อาทิ ทองแดง และสินแร่เหล็ก

เมื่อธุรกิจจีนติดไข้ บริษัทต่างชาติก็หนีไม่พ้นต้องโดนหางเลขไปด้วย

บริษัทจำนวนมากทั่วโลกพึ่งพาซัพพลายเออร์ในจีน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแอปเปิล อิงค์ ของสหรัฐ มีซัพพลายเออร์ 290 แห่งจากทั้งหมด 800 แห่งอยู่ในจีน ขณะที่จีนเป็นแหล่งผลิตโทรทัศน์ราว 9% ของโลก และ 50% ของการผลิตทั้งหมดในเมืองอู่ฮั่นเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ และอีก 25% เป็นซัพพลายเออร์ด้านเทคโนโลยีให้กับภูมิภาคเอเชีย

ผู้บริหารอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปและสหรัฐออกมาเตือนว่า เหลืออีกเพียงไม่กี่สัปดาห์พวกเขาก็จะเผชิญกับภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในจีน โดยฮุนไดได้ปิดการผลิตในเกาหลีใต้แล้ว เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตจากจีน

ส่วนแอปเปิลต้องพึ่งพาการผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์จากโรงงานในจีน และมีเครือข่ายร้านแอปเปิล สโตร์ 42 แห่งที่แอปเปิลสั่งปิดทำการถึงวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทค้าปลีกอื่นๆ ของสหรัฐ อาทิ สตาร์บัคส์ (4,200 สาขา) ไปจนถึงลีวายส์ ก็ได้สั่งปิดร้านสาขาในจีนด้วย โดยยอดขายลีวายส์ในจีนนั้นคิดเป็นสัดส่วน 3% ของยอดขายทั่วโลก

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเส้นทางกลับสู่ทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์

ผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากไวรัสโคโรนา อาจทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนกับในปีที่ผ่านมา หากบริษัทสหรัฐขาดแคลนชิ้นส่วนจากจีนในการผลิตสินค้า ซึ่งอาจจะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตในรัฐโอไฮโอและเพนซิลวาเนีย ก็จะสร้างปัญหาให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ในการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัยในปีนี้ เพราะประชาชนในสองรัฐดังกล่าวต้องพึ่งพาอาศัยตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ยังเหลือเวลาอีกกว่า 10 เดือนกว่าจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย. ก็ยากที่จะระบุว่า ไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบยืดเยื้อยาวนานไปถึงตอนนั้นหรือไม่

เศรษฐกิจจีนเจ็บ โลกก็เจ็บด้วย

บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงราว 0.3% จากผลกระทบของไวรัสอู่ฮั่น แม้จะยังคงขยายตัวที่ระดับประมาณ 3% ก็ตาม

คริสเตียน เคลเลอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของบาร์เคลย์สระบุว่า ไวรัสโคโรนาอาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวที่ราว 3% ลดลงจากการคาดการณ์ของเขาในขณะนี้ที่ 3.3% ในขณะที่นักวิเคราะห์รายอื่นๆ ที่มองในเชิงลบมากกว่าเตือนว่า หากไวรัสนี้ยังคงระบาดต่อไป และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนยังชะงักงันรุนแรงไปอีกหลายเดือน เศรษฐกิจโลกก็อาจถึงขั้นติดลบเลยก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกแทบไม่เหลือมาตรการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจอีกแล้ว

“มีความเสี่ยงที่ผลกระทบทางลบ และโอกาสในการรับมือด้านนโยบายในวงจำกัด อาจฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย”

เคลเลอร์กล่าว

จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่า ปัญหาจากวิกฤตเชื้อไวรัสโคโรนาระบาดจะเกิดขึ้นไปอีกนานเพียงใด และจะขยายตัวจนกลายเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือ pandemic หรือไม่

ล่าสุด คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและการป้องกันโรคระบาดแถลงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ก.พ.) ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่กระจายผ่านฝอยละอองขนาดเล็กในอากาศได้ นอกเหนือไปจากเส้นทางหลักอื่นๆ ของการติดเชื้อ ซึ่งได้แก่การแพร่กระจายโดยการสัมผัส รวมถึงการแพร่กระจายทางตรงผ่านละอองฝอยน้ำมูกและน้ำลายของผู้ติดเชื้อ

ด้านนพ.โรบิน แชททอค ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ถึงแม้การพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีความคืบหน้า แต่การนำวัคซีนดังกล่าวออกสู่ตลาดจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงช่วงต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม นายโซ่ง หนานชาน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของจีนซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 นั้น ได้ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวานนี้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนจะอยู่ที่ระดับสูงสุดในเดือนนี้ ก่อนที่จะทรงตัว และเบาบางลงในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า พร้อมกับกล่าวว่า สถานการณ์ในจีนในขณะนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลง

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า สภาพอากาศร้อนซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนเม.ย.นี้ จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ และยังเชื่อว่า ทางการจีนจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเร็วๆ นี้

นับจากนี้ เราคงต้องจับตาดูว่า จีนจะสามารถควบคุมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ให้อยู่ในวงจำกัด และหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ภายใน 8 เดือนเหมือนครั้งโรคซาร์สระบาดได้หรือไม่ เพราะหากทิ้งช่วงนานกว่านี้ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นต่อ GDP ของจีนและโลกอย่างแน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.พ. 63)

Tags: , ,
Back to Top