กรมชล-กอนช.เตรียมรับมือพายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” กำชับเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 3-17 และศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) ส่วนภูมิภาค เฝ้าติดตามสถานการณ์พายุและสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำเป็นรายชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์อุทกภัย ให้รายงานสาเหตุและปัญหาที่เกิดขึ้นรวมทั้งการช่วยเหลือมายังศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC)ส่วนกลาง เพื่อนำมาวิเคราะห์กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตราการรับมือสถานการณ์น้ำหลากตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่ให้กระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ พร้อมแจ้งเตือนก่อนการระบายไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบระดับพื้นที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง กำหนดพื้นที่จุดเสี่ยงและบริหารจัดการเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ

ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินฝนจากแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝน (One Map) พบว่า ในช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2563 จะมีฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำและลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำเกินความจุและน้ำหลากเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำ ประกอบด้วย

1.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำเกินความจุเก็บกัก
1.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง
1.2 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 124 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ จำนวน 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 76 แห่ง ภาคกลาง จำนวน 4 แห่ง ภาคตะวันออก จำนวน 20 แห่ง ภาคตะวันตก จำนวน 11 แห่ง และภาคใต้ จำนวน 3 แห่ง

2.เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง
2.1 แม่น้ำมูล บริเวณตำบลหนองยาง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ตำบลทุ่งกุลา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และตำบลนิคม อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
2.2 ลำปะเทีย บริเวณตำบลอีสานเขต อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
2.3 ลำชี บริเวณตำบลตระแสง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
2.4 ห้วยทับทัน บริเวณตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
2.5 แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
2.6 แม่น้ำบางปะกง บริเวณตำบลบางเตย อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
2.7 คลองชี บริเวณตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง
2.8 แม่น้ำตาปี บริเวณตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และในลำน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 95 หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top