ก.ล.ต.พัฒนาแนวทางกำกับโบรกฯหลังค่าคอมลดฮวบ-บลจ.พบช่องทางขายผ่านแบงก์ลดลง

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจตัวกลาง เนื่องจากในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (ปี 56-62) พบว่าผู้ลงทุนบุคคลซื้อขายลดลงทั้งในด้านปริมาณหุ้นและมูลค่าซื้อขาย ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจนายหน้ามีแนวโน้มลดลง และอุตสาหกรรมนายหน้ากำไรลดลง โดยบริษัทหลักทรัพย์เกือบครึ่งพึ่งพิงรายได้จากค่าคอมมิชชั่นมากกว่า 70% และบริษัทหลักทรัพย์ที่พึ่งพิงค่านายหน้าสูง 30% มีผลขาดทุน

ทั้งนี้ แนวทางการกำกับดูแลของก.ล.ต.ในเบื้องต้น จะส่งเสริมการสร้าง New Business เช่น 1. ให้ บริษัทหลักทรัพย์ เลือก Business model เอง, ต่อยอดธุรกิจของตัวกลางให้ใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีได้มากขึ้น, ป้องปรามพฤติกรรมที่เอาเปรียบ 2. เพิ่มรายได้ เช่น สนับสนุนรายได้ที่เป็นการสร้าง non-commission, พัฒนารูปแบบธุรกิจได้ตามต้องการ และผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น 3. ลดค่าใช้จ่าย เช่น ลด Compliance cost ที่ไม่จำเป็น, การลดต้นทุนของการออกผลิตภัณฑ์บางประเภท เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และสนับสนุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

“ขณะนี้ยังเป็นแนวทางที่เรายังหาข้อสรุปอยู่ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเพียงพอ สนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน และผู้ลงทุนยังได้รับบริการที่ดีที่สุด”

นางวรัชญา กล่าว

ปัจจุบันธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์มีจำนวนทั้งสิ้น 41 บริษัท แบ่งเป็น Bank backed 10 บริษัท, Foreign 19 บริษัท และ Stand alone 12 บริษัท โดยมีมาร์เก็ตแชร์ คิดเป็น 29%, 49%, 22% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลาง (Digital Infrastructure: DIF) ไม่ว่าจะเป็นบริการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล (NDID) โดยลูกค้าสามารถเปิดบัญชีธนาคารผ่าน mobile app หรือ web app โดยไม่ต้องไปที่สาขา ผ่านมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือของสำนักงาน, Single form แบบฟอร์มมาตรฐานสำหรับเปิดบัญชีตลาดทุน เพื่อลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน, Professional Link ช่วยผู้ประกอบวิชาชีพเข้าถึงข้อมูลการต่อใบอนุญาต การสอบ และการอบรมของตนเอง, Account Aggregator Service ช่วยให้ผู้ลงทุนที่มีการซื้อหุ้น หน่วยลงทุนจากหลายๆ ราย รู้ข้อมูล Portfolio ของตนเองแบบองค์รวม เพื่อสามารถวางแผนทางการเงินต่อไปได้ และมีการส่งข้อมูลให้สรรพากรเพื่อยื่นภาษี

นางวรัชญา กล่าวว่า นอกเหนือจากแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจตัวกลางแล้ว ก.ล.ต.ก็อยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจจัดการลงทุน ประกอบด้วย กองทุนรวม, กองทุนส่วนบุคคล, Wealth advice และตัวแทนขายหน่วยลงทุน เป็นต้น เนื่องด้วยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางการขายหลักมีสัดส่วนการขายลดลงต่อเนื่อง เห็นได้จากปี 58 มีสัดส่วนการขายอยู่ที่ 82%, ปี 59 ลดลงมาอยู่ที่ 78% และลดลงต่อเนื่องมาจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63 อยู่ที่ 54% ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์กลับมีสัดส่วนการขายที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 8% เป็น 27% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยการขายผ่านช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มมากขึ้นด้วย

แนวโน้มในอนาคต คาดการณ์ว่าผู้ลงทุนจะเข้าถึงข้อมูล Products และ Services ได้ง่ายมากขึ้น, มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุน ส่วนบริษัทจัดการลงทุน จะใช้ Big data /AI ในการจัดการลงทุน, Social media เช่น Facebook Twitter เป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงิน, ประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น จำเป็นต้องออมมากขึ้นเพื่อวัยเกษียณ, ประชากรทำงานน้อยลง การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง การลงทุนน้อยลง, เข้าสู่ยุคสูงวัยมากขึ้นและออกจากอุตสาหกรรมเร็วกว่าที่บริษัทจะจ้างงานทดแทน, ผู้ลงทุนต้องการ Sustainable Investment (ESG) เพิ่มขึ้น และบลจ.ขยายฐานกลุ่มลูกค้าที่เกิดใหม่ให้ลงทุนใน ESG products มากขึ้น

แนวทางการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.ในเบื้องต้น ได้แก่

  1. ขยายฐานเข้าถึงผู้ลงทุน เช่น สนับสนุนการใช้ช่องทาง Digital, การขยายตัวกลาง เช่น ประกัน และการให้ความรู้ผู้ลงทุน
  2. Product/คำแนะนำลงทุนที่เหมาะสม เช่น สนับสนุนการใช้ช่องทาง Digital, การขยายตัวกลาง เช่น ประกัน และการให้ความรู้ผู้ลงทุน
  3. เพิ่ม Efficiency ให้ผู้ประกอบกิจการ เช่น ลด Compliance cost ที่ไม่จำเป็น, การลดต้นทุนของการออกผลิตภัณฑ์บางประเภท เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้, สนับสนุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top