“ประพล มิลินทจินดา” บทเรียนวิกฤติซ้อนวิกฤติ เปิดเบื้องหลังยกเครื่องสานฝัน AEC Next Step

ย้อนรอยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากชนวนระเบิด หุ้นกู้ บมจ.การบินไทย (THAI) ถูกลด credit rating จาก A เป็น C อย่างกะทันหันสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนจำนวนมาก และรวมถึงผู้ลงทุนระดับหน่วยงานเป็นองค์กรธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ บล.เออีซี (AEC) ที่ลงทุนในหุ้นกู้ THAI เกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ทำให้ NC และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ต่ำกว่าศูนย์ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ หรือต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นที่มาของการต้องระงับกิจการชั่วคราว

จากนั้นบริษัทเลือกทางแก้ปัญหาด้วยแผนเพิ่มทุนกว่า 300 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 4,590,933,780 หุ้น โดยจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 3,060,622,520 หุ้น ในสัดส่วน 0.4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ที่ราคาหุ้นละ 0.10 บาท จนทำให้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ได้ตามปกติอีกครั้ง

แต่ด้วยผลกระทบดังกล่าวได้กลายเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับธุรกิจ บล.เออีซี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…โจทย์ใหญ่ของการพลิกฟื้นกิจการ นายประพล มิลินทจินดา ประธานคณะกรรมการบริหาร และในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ AEC มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นควบคู่ไปกับการฟื้นฟูกิจการให้กลับเข้าภาวะปกติอีกครั้ง

บทเรียนหุ้นกู้ THAI พลิกโฉม AEC สู่เป้าหมายใหม่

นายประพล ยอมรับกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ครั้งนั้นเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ เพราะนับตั้งแต่เข้าซื้อกิจการ บล.ยูไนเต็ด ต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมด พร้อมว่าจ้างมืออาชีพผ่านตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มาแล้วหลายคน แต่ผลการดำเนินงานก็ยังคงเผชิญกับการขาดทุนมาตลอดหลายปี จนกระทั่งสถานการณ์กำลังจะเริ่มดีขึ้นก็มาเกิดวิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมสร้างความเสียหายให้กับบริษัทอย่างมาก เป็นเหตุผลให้หลังจากนี้ต้องมาทบทวนปรับยุทธศาสตร์ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน

“ก่อนหน้านี้เราก็เผชิญกับวิกฤติที่ไม่ได้ลงไปควบคุมดูแลกิจการอย่างใกล้ชิด ต่อมาเมื่อเข้ามาดูแลแล้วก็แก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ด้วยการปรับโครงสร้างภายในใหม่ทั้งหมดเกือบจะเรียบร้อยใกล้จะกลับมาฟื้นตัว แต่สุดท้ายก็ต้องมาเจอกับวิกฤติโควิด-19 เรียกว่าเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติเข้ามาเพิ่มเติม เป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คือ หุ้นกู้การบินไทยมีปัญหา แม้ว่าเรตติ้งจะจัดในอันดับที่มีความปลอดภัยแล้ว แต่ผลกระทบจากการถูกลดอันดับเรตติ้งจาก A- มาเหลือ C- ภายในระยะเวลา 3 วัน ทำให้ทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่เกือบ 100 ล้านบาทหายไปทั้งหมด NCR ต่ำกว่าเกณฑ์ทันที”

“กฎระเบียบของสำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลท. เป็นผู้ดูแลไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนในการซื้อขายหุ้น และเมื่อ NCR ต่ำกว่าเกณฑ์ ก.ล.ต. จึงจำเป็นที่จะต้องให้บริษัทหยุดกิจการ และเร่งย้ายบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ออกภายในระยะเวลา 10 วัน ส่งผลให้ลูกค้าย้ายบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ออกทั้งหมด แม้ว่าบริษัทจะสามารถหาเงินทุนจำนวน 150 ล้านบาท เข้ามาได้ในระยะเวลา 3 วันก็ตาม แต่ก็ไม่ทันเพราะลูกค้าเสียความเชื่อมั่นไปแล้ว

สถานการณ์ช่วงนั้นยอมรับว่าต้องใช้การเพิ่มทุนกับผู้ถือหุ้นเดิม ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องยอม Dilution หุ้นที่ถือลงไปเหลือกว่า 10% เพราะเชื่อว่าคนที่ถือหุ้นเรามาตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ช่วยลดต้นทุนการถือหุ้นลงมา และเงินที่ได้มา 300 ล้านบาทก็จะนำไปฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตัวผมเองจะกลับเข้ามาด้วยหลังจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้ถอยออกไป เพราะไม่อยากให้ถูกมองว่าผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาครอบงำกิจการ แต่พอดูแล้วผลประกอบการไม่ค่อยดี จึงมองว่าการจะลงทุนอะไรความเป็นเจ้าของสำคัญมากที่สุดเพราะดูแลธุรกิจได้ดีกว่า”

ถึงเวลา…รีโมเดล “AEC Next Step” เป้า 5 ปีลดสัดส่วนโบรกฯ คว้าโอกาส M&A

นายประพล กล่าวถึง Vision ใหม่ “AEC Next Step” อยากให้มองว่า AEC เป็นมากกว่าบริษัทหลักทรัพย์ โดยต้องการเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการลงทุนและได้รับผลตอบแทนที่ดี นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ประเภทตราสารทุนและตราสารหนี้แล้ว ก็จะเป็นตัวกลางเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนเชื่อมผู้ลงทุนกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจตั้งแต่รายเล็กไปถึงรายใหญ่

“เราจะหาผู้ต้องการโอกาส และ ผู้อยากได้รับโอกาสเข้ามาพบกันได้ เพราะมองว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ และอนาคตคาดว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยในการฝากเงินด้วย ซึ่ง AEC เป็นสถาบันทางการเงินขนาดเล็กมีความคล่องตัว เป็นโอกาสที่เรากลับเข้ามาเพื่อที่จะฟื้นฟูตัวเอง ปรับรูปแบบใหม่มุ่งเน้นพัฒนาระบบดิจิทัล วันนี้ถามว่าธนาคารต่างๆในโลกนี้ กับสถาบันการเงินแบบผมแทบไม่แตกต่างกันเลยและนี่คือโอกาสของเรา”

บริษัทวางแผนธุรกิจในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าลดสัดส่วนรายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นให้เหลือราว 20-30% โดยส่วนที่เหลืออีก 70-80% จะมาจากธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) คือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) รวมถึงหาโอกาสการเข้าซื้อกิจการ

“มองหาการลงทุนในธุรกิจอื่นๆมากขึ้นด้วยเพื่อที่จะเป็นการลดความเสี่ยงด้านต่างๆ โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจ หรือ กิจการที่มีความยั่งยืน อาทิเช่น ธุรกิจที่มีสัมปทาน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน คือ ระบบดิจิทัล ออนไลน์”

ล่าสุด AEC เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ด้วยเงิน 120 ล้านบาท ประกอบธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถประจำทางในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยได้รับสัมปทานใบอนุญาตเส้นทางเดินรถขนส่งเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งรถยนต์ที่ให้บริการเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อน โดยมองว่าการมีระยะเวลาสัมทานถึง 7 ปี จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อบริษัทได้ และยังมีระบบไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเป็นอนาคตของโลกด้วย

“ผมคิดถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยมาก่อนเป็นอันดับแรก เราคิดดีเราก็น่าจะอยู่รอด เราเชื่อว่าหลังจากที่เราออก RO ไปแล้วทุกคนมีความสุขหมด และรอวันนั้นจะมีความสุขมากกว่านี้อีก 2-3 เท่า ในธุรกิจที่จะเกิดขึ้นมาในวันนี้จากการใช้ชีวิตวิถีใหม่ และเราจะใช้หลักที่เราเป็นสถาบันทางการเงินในการดำเนินกิจการจากนี้ไป”

นายประพล กล่าวในที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top