ตำรวจจัด 34 กองร้อย ดูแลความเรียบร้อยการชุมนุมพรุ่งนี้ ย้ำไม่ปิดจราจร

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า การดูแลการชุมนุมตลอดแนวถนนราชดำเนินในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.) ตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้าต่อเนื่องไปจนถึงสนามหลวง จะใช้กำลังตำรวจจำนวน 34 กองร้อย โดยไม่มีการปิดการจราจร และวางเครื่องกีดขวาง แต่ในจุดที่สำคัญจะมีการวางกำลังเพื่อเตือนไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใกล้สถานที่สำคัญ

โดยวันพรุ่งนี้ จะมีผู้ชุมนุมทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักเรียนเลว นัดชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการในช่วงบ่าย และจะเคลื่อนขบวนมาสมทบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2.กลุ่มผู้หญิงปลดแอก นัดชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัวในเวลา 16.00-19.00 น. และ 3.กลุ่มราษฎร นัดชุมนุมจัดกิจกรรม Mob Fest บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 13.00-24.00 น. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่แจ้งการชุมนุมกับตำรวจไว้แล้ว

รอง ผบช.น. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ดูแลตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ส่วนที่สอง เป็นกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ดูแลบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธปไตยจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา และส่วนที่สาม จัดเตรียมกำลังสำรองไว้เผื่อมีการชุมนุมเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ตำรวจมีความพร้อมในการถวายอารักขา และดูแลผู้ชุมนุม

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย.นั้น แบ่งออกเป็น 2 คดี คือ คดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุม ของ สน.สำราญราษฎร์ มีผู้กระทำผิด 14 ราย และคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาด ของ สน.ชนะสงคราม มีผู้กระทำผิด 3 ราย

ส่วนกรณีที่มีการนำรถเมล์ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาใช้กีดขวางผู้ชุมนุมนั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ตำรวจไปได้หารือกับผู้อำนวยการ ขสมก.แล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องค่าเสียหาย เพราะจะมีการฟ้องร้องจากผู้กระทำผิดเหมือนเมื่อครั้งที่มีการชุมนุมปิดสนามบิน

ด้าน พล.ต.ต.ธีระพงษ์ วงษ์รัฐพิทักษ์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการประกาศนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมฯ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไปนั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านการจราจร เพื่อประกอบในการวางแผนการเดินทาง และขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไปจนเสร็จสิ้นการชุมนุม ดังนี้

1. เส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและควรหลีกเลี่ยง

ถนนราชดำเนินใน, ถนนราชดำเนินกลาง, ถนนราชดำเนินนอก, ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า, ถนนวิสุทธิกษัตริย์, ถนนจักรพรรดิพงษ์, ถนนหลานหลวง, ถนนดินสอ, ถนนตะนาว, สะพานพระราม 8, สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

2. เส้นทางที่แนะนำให้ประชาชนไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการจราจร

เส้นทางจากฝั่งพระนคร ไปฝั่งธนบุรี

  • ด่วนยมราช – ถนนสวรรคโลก – ถนนราชวิถี – สะพานกรุงธน (ซังฮี้)
  • ถนนพระราม 6 – ถนนพระราม 1 – ถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม – ถนนเยาวราช – ถนนจักรวรรดิ์ – สะพานพระปกเกล้า
  • ถนนพระราม 4 – ถนนเยาวราช – ถนนจักรวรรดิ์ – สะพานพระปกเกล้า
  • ถนนพระราม 4 – ถนนสาทรใต้ – สะพานตากสิน

เส้นทางจากฝั่งธนบุรี ไปฝั่งพระนคร

  • คู่ขนานลอยฟ้า – ทางด่วนศรีรัช – ไปแจ้งวัฒนะ หรือจตุจักร
  • คู่ขนานลอยฟ้า – ทางลงสิรินธร – สะพานกรุงธน(ซังฮี้) – ถนนราชวิถี – ถนนพระราม 6
  • สะพานพระปกเกล้า – ถนนจักรเพชร – ถนนมหาไชย – แยกสามยอด – ถนนเจริญกรุง – ถนนพระราม 4
  • สะพานพระปกเกล้า – ถนนจักรเพชร – ถนนมหาไชย – แยกสามยอด – ถนนเจริญกรุง – แยกเอสเอบี – ถนนวรจักร – ถนนบำรุงเมือง – ถนนพระราม 1
  • สะพานพุทธยอดฟ้า – ถนนจักรเพชร – ถนนอัษฎางค์ – ถนนบำรุงเมือง – ถนนพระราม 1
  • สะพานตากสิน – ถนนสาทรเหนือ – ถนนพระราม 4

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top