GDP ไทยไตรมาส 3 หดตัว -6.4% คาดทั้งปีดีขึ้นเป็นหดตัว -6%

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3/63 หดตัว -6.4% ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว -12.1% ในไตรมาส 2/63 ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนปีนี้ GDP ไทยหดตัว -6.7% ขณะที่ประมาณการทั้งปีจะหดตัวราว -6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึง -7.8 ถึง -7.3%

ปัจจัยสำคัญของการที่เศรษฐกิจไตรมาส 3/63 ติดลบน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลและการลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 63 ที่ -6.0% หดตัวน้อยลงกว่าประมาณเดิมที่คาดไว้ที่ -7.3 ถึง-7.8% ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยหนุนประกอบกันไป ได้แก่ การลงทุนภาคชน ราคาสินค้าเกษตร และการส่งออกที่หดตัวน้อยลง

“ตัวเลข GDP ปีนี้ที่ติดลบน้อยลงกว่าคาด ไม่ได้มีปัจจัยไหนโดดเด่น แต่มาจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ทั้งการลงทุนภาคเอกชน, ราคาสินค้าเกษตร และการส่งออกที่ติดลบน้อยลง ซึ่งเป็นหลายๆ ปัจจัยผสมกันไป ไม่มีปัจจัยไหนเป็นพระเอก ดังนั้นในระยะนี้และระยะถัดไป จะต้องร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน”

เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ ภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ ทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ หากไม่มีปัจจัยใดที่เข้ามากระทบรุนแรงก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 เนื่องจากจะเห็นได้จากดัชนีที่เป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ในช่วงโควิด ในขณะที่ตลาดส่งออกแม้จะยังติดลบ แต่ก็ติดลบน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวน้อยลงเหลือ -6.0%

โดยในปีนี้สภาพัฒน์ประเมินว่าการส่งออกจะอยู่ที่ -7.5% การนำเข้า -13.8% ดุลการค้าเกินดุล 38.3 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ -0.9% ส่วนการลงทุนรวมอยู่ที่ -3.2% การลงทุนภาคเอกชน -8.9% การลงทุนภาครัฐ 13.7% การบริโภคภาคเอกชน -0.9% การอุปโภคภาครัฐบาล 3.6%

ประมาณการรายได้การท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่มูลค่า 4.6 แสนล้านบาท ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 41.8 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 63 อยู่ที่ระดับ 31.30 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ในปี 63 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราการว่างงาน, ปัญหาหนี้ครัวเรือน, ปัญหาภัยแล้ง

“ตัวที่จะขับเคลื่อนหลักในปีนี้ คือ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐจะต้องเริ่มก่อน แล้วในระยะถัดไปจึงค่อยกระตุ้นให้เอกชนลงทุนมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป” นายดนุชากล่าว

ส่วนในปี 64 สภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายได้ที่ระดับ 3.5-4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนของภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปีนี้

โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าในปี 64 การส่งออกจะกลีบมาขยายตัว 4.2% การนำเข้า 5.3% ดุลการค้าเกินดุล 37.9 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13.9 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.6% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ 0.7-1.7% ส่วนการลงทุนรวมอยู่ที่ 6.6% การลงทุนภาคเอกชน 4.2% การลงทุนภาครัฐ 12.4% การบริโภคภาคเอกชน 2.4% การอุปโภคภาครัฐบาล 4.7%

ประมาณการรายได้การท่องเที่ยวปี 64 จะมีมูลค่า 4.9 แสนล้านบาท ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 41-51 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 64 อยู่ในช่วง 30.30-31.30 บาท/ดอลลาร์

นายดนุชา ยังกล่าวถึงแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 63 รวมถึงปี 64 ว่า สภาพัฒน์มองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้

1.การป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดระลอกที่สองภายในประเทศ

2.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยต้องเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองสาขาและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การช่วยเหลือดูแลแรงงาน การรณรงค์ให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม รวมทั้งการดำเนินงานด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19

3.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 64 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 94.4% งบลงทุนต้องเบิกจ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ส่วนการเบิกจ่ายตามโครงการใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 70%

4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน โดยเน้นการขับเคลื่อนสินค้าส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโควิด, การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท

5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 61-63 ให้เกิดการลงทุนจริง, ขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต, ประชาสัมพันธ์จุดแข็งของไทย เช่น Health Care เพื่อสร้างธุรกิจใหม่

6.การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง

7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ และ

8. การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top