Political View: การเมืองนอกสภาส่อยกระดับรุนแรง หลังแถลงการณ์นายกฯ ปิดประตูประนีประนอม

แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราอย่างเข้มข้นกับผู้ชุมนุม ส่งสัญญาณว่าจะนำมาตราที่มีบทลงโทษหนักมาใช้จัดการโดยเฉพาะกับบรรดาแกนนำ อาจทำให้การเมืองนอกสภาเพิ่มอุณหภูมิความร้อนแรงและยืดเยื้อมากขึ้น ซ้ำเติมแรงกดดันหลังจากหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของการชุมนุมคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่าแสนคนและนำเสนอผ่าน iLaw ถูกรัฐสภาปัดตกไป

หลังใช้เวลาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับเป็นเวลา 2 วัน ในที่สุดที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการวาระแรกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่เสนอโดยฝ่ายค้าน และฉบับที่ 2 ที่เสนอโดยรัฐบาล ขณะที่ร่างฉบับ 3, ฉบับที่ 4, ฉบับที่ 5, ฉบับที่ 6 ของฝ่ายค้าน และ ฉบับที่ 7 ของภาคประชาชน ไม่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด

จากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เพิ่มระดับมาตรการสกัดกั้นผู้ชุมนุมไม่ให้บุกเข้าไปที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงและยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องหลายระลอก และยังมีเหตุปะทะระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มราษฎรจนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย จากนั้นวันถัดมาผู้ชุมนุมรวมตัวแยกราชประสงค์เพื่อแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ตอบโต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวมไปถึงการนัดหมายครั้งใหม่วันที่ 25 พ.ย.โดยมีจุดหมายที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ออกแถลงการณ์ถึงความจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สอดคล้องกับหลักการสากล เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ”อินโฟเควสท์”ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวถือเป็นการปิดประตูที่จะพูดคุยประนีประนอมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องบนถนน ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงในที่สุด

“แถลงการณ์ของนายกฯ ยิ่งชัดเจนว่าไม่มีการประนีประนอม ซึ่งเป็นสิ่งที่กังวลว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะคุยกับม็อบ โดยเฉพาะปฏิบัติการครั้งล่าสุดของตำรวจที่บริเวณหน้ารัฐสภารุนแรงเกินเหตุ และไม่มีเหตุผลเพียงพอ”

นายสุรชาติ กล่าว

นายสุรชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ บอกมาตลอดว่าพร้อมจะพูดคุยกับทุกฝ่าย แต่ก็ยังไม่เคยมีการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม และยังจับกุมแกนนำอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ขณะนี้ ข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมที่กลุ่มผู้ชุมนุมมองว่าปัญหาเกิดจากตัวของนายกรัฐมนตรี โดยมีความผูกโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้รับการตอบสนอง เหลือเพียงข้อเรียกร้องที่ 3 ที่คาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้ประเด็นนี้ขับเคลื่อนต่อไป แม้ว่าจะเป็นเรื่องระยะยาว

“ตอนที่นายกฯ ประกาศจะคุยกับม็อบ แต่กลับมีการจับกุมตัว เมื่อไม่มีเวทีพูดคุย ม็อบก็คงเดินหน้าชุมนุมต่อไป ตอนนี้ข้อเรียกร้องข้อ 1 และข้อ 2 เป็นไปไม่ได้แล้ว ม็อบก็ยกระดับชุมนุม โดยมองว่าข้อ 3 จะเป็นกุญแจดอกเดียวที่เหลืออยู่ ซึ่งต้องติดตามดู”

นายสุรชาติ กล่าว

ขณะที่นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรคงจะต้องยืดเยื้อต่อเนื่องไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย โดยพัฒนาการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งอาจไม่สำเร็จในเร็ววันนี้

“คิดว่าม็อบคงรุกต่อ อาจยืดเยื้อต่อไป เพราะข้อเรียกร้องยังขายไม่ได้ หมายถึงยังไม่สำเร็จ ถึงแม้ (ข้อเรียกร้อง) จะมีความสุ่มเสี่ยงและท้าทาย แต่ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งเห็นด้วย”

นายสุขุม กล่าว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังทำให้ปัญหาความแตกแยกในสังคมขยายตัวออกไป และมีแนวโน้มที่เกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างกลุ่มที่เห็นต่าง ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นคนกลาง ดังนั้น รัฐบาลควรรีบเปิดเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นจากผู้ชุมนุมเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายออกไป และมีความเป็นกลางในการดูแลผู้ที่เห็นต่างอย่างเสมอภาค

“ที่ผ่านมาถูกอุดปาก ถูกกดดันไว้ไม่ให้พูด มันเหมือนน้ำร้อนที่รอวันปะทุ รัฐบาลควรหาเวทีในสถานศึกษารับฟังความคิดเห็นเหล่านี้ จะช่วยไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง”

นายสุขุม กล่าว

นายสุขุม กล่าวว่า ที่ผ่านมากฏหมายของไทยถูกมองว่าผู้มีอำนาจตราขึ้นมาเพื่อใช้ปกครองประชาชน โดยกำหนดเป็นข้อห้ามไม่ให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เป็นการตรากฎหมายเพื่อไว้ใช้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาช้านานแล้วและไม่ได้รับการแก้ไข

“เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นธรรม ถูกกดดันสะสมนานวันเข้าก็กลายเป็นความไม่พอใจ”

นายสุขุม กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top