สธ.แนะเลื่อนจัดอีเว้นท์ที่มีคนมากๆ หวั่นโควิด-19 ระบาด

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างการแถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ถึงกรณีทางประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิการจัดงาน”โตเกียวมาราธอน”ออกไปว่า การจัดงานอีเวนท์และงานสัมมนาขนาดใหญ่ในช่วงนี้หากสามารถเลื่อนไปก่อนได้ก็ควรเลื่อนออกไป เพราะหากพิจารณาตามความเสี่ยงของแพร่ระบาดก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่ม take off เมื่อใด แต่การนำคนจำนวนมากมารวมตัวกันเท่ากับเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการแพร่ระบาดได้

“การระบาดกว้างขวางจะเป็นความเสี่ยงมากขึ้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า กรณีที่หากเลื่อนการจัดงานไม่ได้ ก็จะต้องจัดระบบป้องกันอย่างเต็มที่ภายในสถานที่จัดงาน โดยจะต้องคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาร่วมงานอย่างละเอียด ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิบริเวณหน้างาน ผู้ร่วมงานจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และติดตั้งเจลแอลกอออล์สำหรับล้างมือบ่อย ๆ

ล่าสุด ทางผู้จัดงาน Thailand Health Expo ที่เข้าร่วมในการแถลงข่าววันนี้ เปิดเผยว่า ได้มีมติเลื่อนการจัดงานมหกรรมสินค้าและบริการสุขภาพ (Thailand Health Expo) ประจำปี 2563 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 4–8 มี.ค.63 ไปเป็นวันที่ 2-6 ก.ย.เพื่อป้องกันไว้ก่อน

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับสสถานการณ์ในประเทศในวันนี้มีผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หายดีและกลับบ้านได้อีก 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนที่สถาบันโรคทรวงอกและโรงพยาบาลราชวิถี รวมขณะนี้มีผู้ป่วยหายป่วยที่แพทย์ให้กลับบ้านรวมเป็น 17 ราย และยังไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ในส่วนคนไทยกลับบ้านที่ฐานทัพเรือสัตหีบพร้อมแล้วสำหรับการเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากคนไทย 137 คนที่พักในอาคารรับรองส่งตรวจซ้ำ ทราบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในช่วงค่ำของวันนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

สำหรับผู้โดยสารเรือสำราญ Westerdam ที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 14 ก.พ. ก่อนที่ทางการไทยจะสั่งยกเลิกเข้าประเทศมีทั้งสิ้น 95 คน โดยส่วนใหญ่ได้ต่อเครื่องไปต่างประเทศทั้งหมดแล้ว ผู้ที่เข้ามาในประเทศมีเพียง 4 คน เป็นคนไทย 2 คน ต่างชาติ 2 คน ทุกคนได้รับการตรวจด้วยเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค เก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลเป็นลบทุกคน และยังมีการติดตามอยู่ต่อเนื่อง 14 วัน

ส่วนผลการหารือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงการต่างประเทศ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) มีมติตรงกันว่าจะไม่รับเครื่องบินเช่าเหมาลำ (charter flight) ที่รับผู้โดยสารจากเรือสำราญลำนี้จนถึงปลายเดือนก.พ.นี้

ทั้งนี้ ยอดผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-17 ก.พ.63 มีจำนวน 872 ราย คัดกรองจากสนามบิน 55 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 817 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 790 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 82 ราย

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวถึงกรณีที่ทางประเทศอิสราเอลออกประกาศกักตัวคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศ 14 วันว่า ทุกประเทศมีเอกสิทธิในการตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับประเทศไทย มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการปานกลาง ไม่ได้สุดโต่งเหมือนบางประเทศ โดยดำเนินการเหมาะสมกับสถานการณ์ความเสี่ยง

ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเกณฑ์การเฝ้าระวังว่า พื้นที่เสี่ยงอาจมีประเทศเพิ่มขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์แต่ละช่วงเวลา โดยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะพิจารณาจากความเสี่ยง บางเรื่องมีความเสี่ยงจะกระทบสุขภาพ และ ความเป็นไปได้จริง ยกตัวอย่างเช่นกรณีของเรือสำราญ ที่วันหนึ่งอาจใช้มาตรการหนึ่ง แต่พออีกวันก็ใช้อีกมาตรการ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top