ครม.ไฟเขียวขยายสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนแลกยุติข้อพิพาท กทพ.-BEM

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวม 2 ฉบับ ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มาตรา 47 ประกอบพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่ให้ขยายเวลาสัมปทานทางด่วนออกไป 15 ปี 8 เดือนที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 28 ก.พ.63

แถลงการเจรจายุติข้อพิพาทโครงการทางด่วนขั้นที่สอง ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและ บริษัท ทางด่วนเเละรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ภาพ: thaigov.go.th)

เพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ทั้งหมด 17 คดีที่มีมูลค่าข้อพิพาท 1.3 แสนล้านบาท รวมถึงกรณีที่อาจทำให้เกิดข้อพิพาทในอนาคต

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรื่องนี้เป็นกรณีที่มีทุนทรัพย์ในข้อพิพาทเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ประกอบกับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น จึงให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปดำเนินการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานโครงการะบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอ (พระราม9-รัชดาภิเษก) ส่วนบี (พญาไท-บางโคล่) ส่วนซี (รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ) สิ้นสุดสัญญา ก.พ.63 และส่วนดี (พระราม 9-ศรีนครินทร์) สิ้นสุดสัญญา เม.ย.70 และ สัญญาบางปะอิน-ปากเกร็ด สิ้นสุดสัญญา ก.ย.69

นายวิษณุ กล่าวว่า ข้อพิพาทที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินคดี มีจำนวน 11 คดี จากทั้งหมด 17 คดี โดยมี 6 คดีที่มีผลตัดสินแล้ว ซึ่ง BEM ชนะ 3 คดีที่เป็นประเด็นการสร้างทางแข่งขัน รวมเป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคดีแรก BEM ชนะคดี 4 พันกว่าล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) ส่วนประเด็นการไม่ให้ปรับค่าผ่านทาง กทพ.แพ้ 2 คดี ขณะที่ประเด็นอื่น กทพ.ชนะ BEM คิดเป็นวงเงิน 491 ล้านบาท

ดังนั้น หากไม่ดำเนินการใดๆในวันนี้ 11 คดีที่เหลือคาดว่าจะใช้เวลากว่าจะได้ข้อยุติในปี 78 โดยประเมินว่าจะมีค่าเสียหายประมาณ 3 แสนล้านบาทบวกดอกเบี้ย ฉะนั้น ครม.จึงให้เจรจากับ BEM โดยไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ให้แลกเป็นระยะเวลาสัมปทานแทน

นอกจากนี้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานทางด่วนใกล้จะสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ.63 หากสิ้นสุดสัญญาจะไม่สามารถเจรจาได้ และต้องเปิดประมูลใหม่ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และต้องให้ทั้งสองฝ่าย กทพ.และ BEM ดำเนินการถอนฟ้องทั้งที่อยู่ในชั้นที่มีชั้นอนุญาโตตุลการ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด ที่คาดใช้เวลา 5-7 วัน

“แต่เพราะว่าอาทิตย์หน้าจะหมดสัญญา จะรอช้าก็ไม่ได้ เป็นที่มาที่ต้องเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ เพราะถึงวันที่ 28 ก.พ.ที่สัญญา เอ บี ซี ดี จะหมดสัญญาสัมปทาน ถ้ายังไม่ได้ข้อสรุปก็จ้าง BEM ต่อ แต่ดอกเบี้ยก็วิ่งไป และถ้าถึงจุดหนึ่งถ้า BEM บอกเลิกแล้วไม่ทำแล้ว หรือว่ากระทรวงเกิดเปลี่ยนใจจะเจรจาต่อ ตอนนั้นถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าดำเนินการอะไรหลังวันที่ 28 ก.พ.ที่เป็นวันที่สัญญาหมดอายุ การเจรจาก็ใช้ไม่ได้ เพราะตามกฎหมายต้องลงมือเปิดประมูลใหม่”

นายวิษณุ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า ตามที่สหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประชาชน สภาผู้แทนราษฎร สงสัยว่าเหตุใดคดีที่ยังไม่รู้แพ้ชนะมาเจรจา ทำไมไม่เจรจาที่ทั้งที่ 11 คดีที่ยังไม่ตัดสินเอามาเจรจา และอาจชนะคดี ดังนั้นบอร์ด กทพ.จึงได้นำคดีหรือข้อพิพาททั้ง 17 คดีมาเจรจาเพื่อไม่ให้เกิดคาราคาซังต่อไป จึงต้อง Set Zero นอกจากนี้ หากไม่เจรจา เมื่อ กทพ.แพ้คดี จะต้องลงบัญชีเป็นหนี้ กทพ.ก็ไม่สามารถจ่ายโบนัสได้ประมาณ 20 ปี เพราะมีขาดทุนสะสม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top