ครม.อนุมัติตั้งสถาบันวิจัยเทคฯ ระบบราง แต่ยังไม่เคาะต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ยังไม่มีการพิจารณาขยายเวลาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมของกระทรวงมหาดไทย และหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ซึ่งสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีหลายช่วง ต้องไปดูว่าจะจ้างใครมาเดินรถและงบประมาณของ กทม.เพียงพอหรือไม่ ซึ่งช่วงที่ 1 และ 2 รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ จึงจำเป็นต้องพิจารณาตลอดสายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และประชาชนได้ประโยชน์จากค่าโดยสารที่ถูกลง

ขณะที่ปัญหาสำคัญ คือ หนี้จากโครงการในระยะที่ 1 ที่ค้างอยู่จะดำเนินการอย่างไร และหากใครมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีก็สามารถนำเสนอรัฐบาลได้ เพื่อนำไปพิจารณาต่อไป

ครม. อนุมัติตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีระบบราง ในการวางแผนวิจัยยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และเสนอแนะนโยบายและแผนงานในการกำหนดทิศทางการวิจัย การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบทดสอบ และทดลอง รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบราง ภายใต้การกำกับการดำเนินกิจการโดย รมว.คมนาคม

สำหรับความจำเป็นในการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชนในครั้งนี้ เพื่อให้มีเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการด้านการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การต่อยอดเทคโนโลยี การวิจัย และการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในระบบการขนส่งทางราง บูรณาการระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งส่งเสริมงานวิจัย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีระบบรางจากประเทศเจ้าของเทคโนโลยี พัฒนาคนไทยให้มีความรู้ด้านรางเทียบเท่าประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในระบบการขนส่งทางราง ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งทุกระบบ

รวมทั้งยังต้องเตรียมการในด้านการวิจัยและพัฒนาใน 5-10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ทันความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของการคมนาคมในปัจจุบันและอนาคตทัดเทียมนานาประเทศ และเตรียมพร้อมเป็นศูนย์กลางระบบรางในภูมิภาคอาเซียนด้วย

“การจัดตั้งสถาบันนี้ เพื่อให้ในอนาคต การที่เราถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ที่เป็นต้นแบบของเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถดำเนินการได้ผ่านสถาบันฯ นี้ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักในการรับเรื่องในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต้นแบบ ถือว่าเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีของไทยในอนาคต เป็นการวิจัย และการส่งเสริมอุตสาหกรรม ในเรื่องการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาให้คนไทยมีความรู้ด้านราง เทียบเท่ากับประเทศที่เจริญก้าวหน้าของระบบการขนส่งทางรางด้วย”

นายอนุชา ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top