All About ESG : เจ้าแรกในไทย !! “CarbonWatch” เขย่าวงการ ESG

เทคโนโลยีอวกาศเกี่ยวอะไรกับการเซฟโลก!? สองหัวข้อที่ไม่น่ามาเกี่ยวข้องกันได้ แต่วันนี้มาแมทช์กันอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อ บมจ.ไทยคม [THCOM] ตัวตึงเรื่องดาวเทียมของไทยกว่า 30 ปีงัดไอเดียสุดล้ำพัฒนาเครื่องมือ “CarbonWatch” ที่จะทำให้การวัดคาร์บอนในป่าหลายแสนไร่ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป !!

“All About ESG” EP. นี้จะชวนทุกคนมารู้จักกับเทคโนโลยีสุดล้ำฝีมือคนไทย กับนายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM ที่จะมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ CarbonWatch ที่ไม่ได้ช่วยแค่สิ่งแวดล้อม แต่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด !?

 

*”CarbonWatch” คืออะไร ?

THCOM เชี่ยวชาญธุรกิจดาวเทียมมากว่า 30 ปี ซึ่งราว ๆ 3-4 ปีที่แล้ว เราเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ ซึ่งเห็นว่าโลกในอนาคตจะให้ความสำคัญกับเรื่องอวกาศมากขึ้น จึงตัดสินใจเข้ามาสู่ธุรกิจอวกาศ หรือ Space Technology

และเราจึงคิดต่อไปว่าจะนำความรู้ด้านอวกาศมาช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร จึงพัฒนาออกมาเป็น “CarbonWatch” เครื่องมือที่วัดจำนวนการดูดซับคาร์บอนของป่าในประเทศไทย ซึ่งประมวลผลจากภาพถ่ายดาวเทียม และเทคโนโลยี AI รวมถึง Machine Learning ที่เราพัฒนาเอง ไม่ต้องใช้คนลงพื้นที่แบบเดิมแล้ว

“แทนที่จะใช้คนลงพื้นที่ ซึ่งจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ วัดขนาด ความสูง หรือความหนาแน่นของต้นไม้ ซึ่งใช้ระยะเวลานาน ลองคิดภาพหากมีเนื้อที่เป็นแสน ๆ ไร่จะทำอย่างไร ที่สำคัญข้อมูลอาจจะไม่แม่นยำ และการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ก็มีค่าใช้จ่ายด้วย” นายปฐมภพกล่าว

ปัจจุบัน CarbonWatch แบ่งการให้บริการเป็น 2 ส่วนคือ

  1. ส่วนก่อนขึ้นทะเบียน :: CarbonWatch จะช่วยจำแนกประเภทของป่าไม้ ประเมินความหนาแน่น และ ประเมินการกักเก็บคาร์บอน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบเอกสาร PDD : Project Design Document สำหรับขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก.(TGO)
  2. ส่วนหลังการขึ้นทะเบียน :: CarbonWatch จะช่วยติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียน นั่นก็คือ การติดตามไฟป่า และการติดตามป่าที่ถูกทำลาย

 

*CarbonWatch ใช้ทีได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า !!

ประโยชน์ของ CarbonWatch คือสามารถประมวลข้อมูลได้รวดเร็ว พื้นที่หลักหมื่น หรือ แสนไร่ ใช้ระยะเวลาอันสั้น เพียงแค่ 1-2 วันเท่านั้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็ยังถูกกว่าการจ้างคนลงพื้นที่ นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้ ยังสามารถตรวจสอบได้ และมีความแม่นยำ

และตอนนี้หลายบริษัทให้ความสำคัญเรื่อง ESG ซึ่ง Pain Point ของผู้ประกอบการที่เราพบคือ เขามีพื้นที่หลายแสนไร่อยู่ในมือ แต่ไม่รู้ว่าจะวัดจำนวนคาร์บอนอย่างไร จึงไม่สามารถทำเรื่อง Carbon Credit ได้ แต่พอเขารู้จักกับ CarbonWatch เขาก็เร่งเครื่องด้านนี้ทันที

“THCOM ได้รับเลือกเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 67 ในระดับ AAA นั่นก็เพราะเราเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่เราให้เครื่องมือกับคนอื่น แต่ธุรกิจเราเองก็เป็น ESG ด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว

 

*คว้าไลเซนส์เจ้าแรกจากอบก. ลูกค้าตื่นตัวเพียบ !!

เนื่องจากเครื่องมือ CarbonWatch ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นรายแรกในไทยที่ใช้วิธีนี้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้ ซึ่งการรับรองครั้งนี้นับเป็นสเต็ปที่สำคัญมาก เพราะหลังจากนั้นก็เริ่มมีบริษัทใหญ่ ๆ ติดต่อเข้ามาและทำ MOU ร่วมกัน อาทิ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล [GGC] ในเครือ บมจ.ปตท. [PTT] และบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (SCG CPAC) ในเครือของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย [SCC]

นายปฐมภพ กล่าวว่า CarbonWatch ไม่ได้จำกัดการใช้แค่ในประเทศไทย อย่างตอนนี้เราก็ได้มีการขยายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ป่าไม้เยอะอย่างสปป.ลาวอีกด้วย

 

*หรือ “CarbonWatch” จะล้ำเกิน คนไม่ชิน !?

อุปสรรคที่เราพบระหว่างการทำเรื่อง CarbonWatch ก็คือ มันเป็นเรื่องใหม่ เข้าใจยาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่สำหรับโลกใบนี้ Space Technology ก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่ การที่เรานำเรื่องนี้มาใช้ หลายองค์กรที่มีความ Conservative ก็อาจจะยังกล้า ๆ กลัว ๆ ดังนั้นเราก็แก้ไขด้วยการอธิบายและทำความเข้าใจกับลูกค้าให้มากขึ้น ว่าเทคโนโลยีนี้คืออะไร เป็นยังไง และเป็นประโยชน์กับเขาอย่างไร

 

*เทรนด์ ESG ต่อจากนี้ จะไปทางไหน !?

ในอดีตหลายบริษัทอาจมอง ESG ในลักษณะของการช่วยเหลือสังคม สิ่งแวดล้อม หรือเป็นในเชิง CSR แต่สำหรับ THCOM นั้น มอง ESG เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเรา ก็คือเราจะใช้ความรู้ความสามารถทางธุรกิจของเรา สร้างเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเรื่อง ESG

“บางคนอาจมองว่า ESG เป็นเรื่องของค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ถ้าเรามองดี ๆ ESG มีประโยชน์ทั้งมิติทางสิ่งแวดล้อม และธุรกิจในเวลาเดียวกันได้” นายปฐมภพกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 68)