หมอคาดผู้ป่วยโควิดทั่วโลกสิ้นปีแตะ 90 ล้านคน -อดีตผู้ว่า ธปท.ชี้ภาคแรงงานอ่อนแอหนักยากฟื้น

ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนา “โควิด-19 จะจบอย่างไร : What ‘s the End Game?”

ว่า ในปัจจุบันถือว่าครบรอบ 1 ปี ที่โลกเรารู้จักโควิด-19 ซึ่งมีต้นตอมาจากพบเคสผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.62 และเชื่อว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อรายแรก แต่น่าจะเป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งคนไข้รายแรกน่าจะมีการติดเชื้อในช่วงเดือนต.ค. หรือ พ.ย.62 ซึ่งการจะให้สืบค้นไปถึงผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้คงจะเป็นการยากมากแล้ว

อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80% จะแสดงอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการของโรคเลย ขณะที่อีก 20% ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และในจำนวนนี้มีเพียง 3-5% ที่มีอาการหนักต้องรักษาใน ICU ซึ่งโดยภาพรวมแล้วมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้ไม่เกิน 2% ดังนั้นจึงอาจเรียกได้ว่าความรุนแรงของโรคนี้ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับโรคซาร์ส หรืออีโบล่า

“ถ้าโรคมันรุนแรงอย่างเช่น ซาร์ส หรืออีโบล่า ป่านนี้คงจบไปแล้ว จะไม่ระบาดไปได้มากเท่านี้ เพราะการที่โรคมีความรุนแรงน้อย จึงทำให้ผู้ปวยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็น มีการเดินทางข้ามประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปได้ และยากต่อการควบคุม เพราะมีอาการน้อย ซึ่งพบมากในผู้ป่วยที่เป็นโควิด”

ศาสตราจารย์ นพ.ยง ระบุ

ศาสตราจารย์ นพ.ยง เชื่อว่าภายในสิ้นปี 63 จะมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกแตะ 90 ล้านคน ซึ่งขณะนี้การพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 กำลังอยู่ในเฟส 3 ซึ่งเป็นเฟสสุดท้ายที่ทดลองกับอาสาสมัคร โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีผลลัพธ์ออกมาแน่นอนอย่างน้อย 6-7 ตัว แต่ทั้งนี้อาจเป็นการนำมาใช้ได้กับเคส Emergency Use ก่อนเท่านั้น ยังไม่ใช่การใช้โดยทั่วไป

ด้านนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในทั่วโลกจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศนั้น เชื่อว่าในปีนี้จะมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่การฟื้นตัวสามารถกลับมาได้เร็ว และทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไม่อยู่ในระดับที่ติดลบ นั่นคือ จีน และเวียดนาม ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากจน GDP ปีนี้มีโอกาสจะติดลบ

ส่วนประเทศไทยนั้น แม้จะเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้เป็นอย่างดี แต่ก็อาจได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจรุนแรงกว่าหลายประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งเฉพาะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวนี้คิดเป็น 15% ของ GDP

“ไทยอาจจะได้รับผลกระทบกว่าหลายประเทศ แม้จะคุมโควิดได้ดี เพราะเศรษฐกิจเราต้องพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งส่งออก และท่องเที่ยว โดยเฉพาะท่องเที่ยว จากก่อนหน้าที่มียอดนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน แต่ช่วง 3 เดือนแรกก่อนที่จะปิดประเทศ มีเข้ามาแล้ว 6.7 ล้านคน และเชื่อว่าปีนี้คงหยุดเท่านี้ เพราะยังเปิดประเทศไม่ได้ การท่องเที่ยวที่คิดเป็น 15% ของจีดีพี ก็คงจะหายไปเลย”

นายวิรไทกล่าว

ดังนั้น มาตรการในช่วงแรกที่รัฐบาลได้ออกมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด คือ มาตรการในรูปแบบของการเยียวยาผลกระทบ แต่หลังจากนั้น เมื่อประชาชนเริ่มที่จะเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่กับโควิดแล้ว มาตรการช่วงต่อมาคือมาตรการในรูปแบบของการฟื้นฟู ซึ่งจะต้องมีลักษณะการให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดกับแต่ละกลุ่มธุรกิจ เป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ ไม่ใช่การเหวี่ยงแห เพราะแต่ละภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป

พร้อมมองว่า ก่อนเกิดวิกฤติโควิด ประเทศไทยเองมีปัญหาในเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว มีการย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมมาสู่ภาคบริการค่อนข้างมาก และเมื่อเจอปัญหาโควิด จึงทำให้แรงงานที่อยู่ในภาคบริการเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงที่ล็อกดาวน์ประเทศ และหยุดกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาคนตกงาน ถูกเลิกจ้างชั่วคราว ลดชั่วโมงการทำงาน และมีข้อมูลว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่มีแรงงานจากกรุงเทพฯ ย้ายกลับไปต่างจังหวัดนับล้านคน

ซึ่งเมื่อหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว อาจจะเป็นการยากที่จะทำให้แรงงานเหล่านี้หวนกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในเมืองใหญ่ได้เหมือนเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการเองได้ลดสัดส่วนการใช้แรงงานคน โดยหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งมองว่าช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้

อดีตผู้ว่าฯ ธปท. เชื่อว่าประเทศไทยจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี กว่าที่สถานการณ์เศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ ในประเทศจะกลับมาได้เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด ซึ่งการฟื้นตัวจะเป็นเหมือนเครื่องหมายถูก หรือ Nike shape ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประเทศไทยจะต้องไม่มีโควิดกลับมาระบาดในรอบ 2

“เราคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับไปเท่าเดิมก่อนช่วงที่มีโควิดระบาด…การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจเป็นรูปเครื่องหมายถูกหางยาว หรือมีลักษณะเหมือนเครื่องหมายไนกี้ แต่อาจจะไม่ใช่ไนกี้ที่สมูทมากนัก เพราะในหางของเครื่องหมายถูก อาจจะมีขึ้นๆ ลงๆ บ้าง เนื่องจากบางประเทศยังมีการล็อกดาวน์ และทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเป็นช่วงๆ”

นายวิรไทระบุ

อดีตผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า หลังจากภาครัฐมีมาตรการทั้งในส่วนของการเยียวยา และการฟื้นฟูแล้ว จะต้องไม่ลืมเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยต้องใช้โอกาสที่ไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดีกว่าประเทศอื่น มาใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหากไม่เร่งดำเนินการ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top