In Focus: ไบเดนเตรียมทำสิ่งนี้… หากทรัมป์ดื้อด้านไม่ยอมแพ้!

นับตั้งแต่ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเสร็จสิ้นลงในวันที่ 3 พ.ย. จนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็ยังไม่เคยเอ่ยปากยอมรับความพ่ายแพ้ แม้ว่าสื่อแทบทุกสำนักต่างรายงานตรงกันว่านายโจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้

ภาพ: รอยเตอร์

ทรัมป์ถอยไม่จริง ยันเรื่องยังไม่จบ

ถึงแม้ทรัมป์ได้ทำให้ทั่วโลกโล่งอกเมื่อวานนี้ เมื่อได้ประกาศมอบหมายให้เอมิลี เมอร์ฟีย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานบริการทั่วไปของสหรัฐ (GSA) เริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจให้กับคณะบริหารของไบเดน แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทรัมป์ก็ได้ทวีตข้อความระบุว่า เขาจะไม่มีวันยอมแพ้ พร้อมกับย้ำว่าการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.เป็นการเลือกตั้งที่มีการทุจริตมากที่สุด เนื่องจากมีบัตรผี และเขาจะยังคงฟ้องร้องในศาลต่อไป

ข้อความดังกล่าวบ่งชี้ว่าทรัมป์ถอยไม่จริง และพร้อมที่จะต่อสู้ยืดเยื้อ ซึ่งสำหรับคนอย่างทรัมป์ อะไรก็เกิดขึ้นได้ และเนื่องจากยังคงมีเวลาอีกกว่า 1 เดือนก่อนจะถึงวันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี พฤติกรรมที่ผ่านมาของทรัมป์ก็ได้สร้างความกังวลต่อหลายฝ่ายว่าเขาอาจลืมสิ่งที่เขาได้ให้สัญญาไว้ และจะยังคงนั่งในทำเนียบขาวบริหารประเทศต่อไปจนเกินวาระที่กำหนด

In Focus สัปดาห์นี้ เราจะมาดูกันว่าไบเดนจะต้องจัดการกับทรัมป์อย่างไร ถ้าหากทรัมป์ยังคงทำเฉยอยู่ในทำเนียบขาวจนถึงวันที่ 20 ม.ค.ซึ่งเป็นวันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดน

ไทม์ไลน์จากวันเลือกตั้งถึงวันรับตำแหน่งประธานาธิบดี

ก่อนอื่นขอให้เรามาดูไทม์ไลน์นับจากวันเลือกตั้งถึงวันรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยถึงแม้ชาวอเมริกันได้ลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 พ.ย.แล้ว และสื่อก็ได้คาดการณ์ว่าไบเดนเป็นผู้ที่คว้าชัยชนะขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ยังมีขั้นตอนอีกมากมายกว่าจะถึงวันที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากระบบการเลือกตั้งของสหรัฐมีความซับซ้อน โดยจะตัดสินผู้แพ้ชนะจากคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote) ไม่ใช่คะแนนจากชาวอเมริกันทั่วประเทศ (popular vote) ทำให้ระหว่างนี้เรายังคงต้องจับตากำหนดการสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐดังต่อไปนี้:-

  • 8 ธ.ค.63 กำหนดเส้นตายของรัฐทั่วสหรัฐ
    เส้นตายสำหรับรัฐต่างๆในการสรุปผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
  • 14 ธ.ค.63 คณะผู้เลือกตั้งหย่อนบัตรลงคะแนน
    คณะผู้เลือกตั้งจัดการประชุมในแต่ละรัฐเพื่อหย่อนบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
  • 23 ธ.ค.63 ประธานวุฒิสภารับมอบผลคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง
    รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ซึ่งมีสถานะเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง จะทำการรับมอบใบรับรองผลการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการจากคณะผู้เลือกตั้ง
  • 6 ม.ค.64 สภาคองเกรสประกาศชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี
    สภาคองเกรสจัดการประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้ง โดยรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ จะเป็นประธานการประชุม และจะเป็นผู้ประกาศผลการนับคะแนน โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง จะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ
  • 20 ม.ค.64 วันรับตำแหน่งประธานาธิบดี
    ว่าที่ประธานาธิบดีและว่าที่รองประธานาธิบดีจะเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

สื่อฟันธงไบเดนคว้าชัย แต่ทรัมป์ไม่สน

สื่อรายงานว่า ไบเดนได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 306 เสียง ซึ่งมากเกินพอสำหรับจำนวนที่ต้องการ 270 เสียงในการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ขณะที่ทรัมป์ได้เพียง 232 เสียง

หากคู่แข่งของไบเดนเป็นคนอื่น และเห็นว่าคะแนนถูกทิ้งห่างเช่นนี้ เขาก็จะทำตามธรรมเนียมที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา ด้วยการประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และจะอวยพรไบเดนในการทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ แต่เนื่องจากคู่แข่งของไบเดนคือทรัมป์ ซึ่งไม่สนใจที่จะทำตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยทรัมป์ได้เดินหน้าฟ้องศาลในหลายรัฐเพื่อเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ และให้บางรัฐยุติการนับคะแนน โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง เช่น มีบัตรเลือกตั้งปลอม มีการปิดกั้นไม่ให้ตัวแทนพรรครีพับลิกันเข้าสังเกตการณ์ในการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี คำฟ้องของทรัมป์ได้ถูกศาลตีตกไปในหลายรัฐ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ส่วนในรัฐที่มีการนับคะแนนใหม่ ก็ปรากฎว่าไบเดนยังคงเป็นผู้คว้าชัยชนะ

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่การนับคะแนนใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐและวุฒิสมาชิก แต่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ทีมงานทรัมป์เสียงแตก

ขณะนี้ทีมงานของทรัมป์เริ่มมีความเห็นแตกแยกเกี่ยวกับแนวทางที่ทรัมป์ควรดำเนินการต่อจากนี้ โดยบางส่วนยังคงเชียร์ให้ทรัมป์สู้ต่อไป ขณะที่บางส่วนเริ่มยอมรับความจริงที่ว่าทรัมป์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และกำลังเตือนสติให้ทรัมป์เห็นความสำคัญของการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อที่จะกลับมาต่อสู้อีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยทำเนียบขาวกำลังรวบรวมผลงานตลอด 4 ปีของทรัมป์ และพยายามหาทางลงให้ทรัมป์ด้วยการอ้างถึงชัยชนะในฐานะตัวแทนพรรครีพับลิกันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ของทรัมป์เกือบ 90 ล้านคน และทรัมป์ได้รับ popular vote มากกว่า 73 ล้านเสียง ซึ่งมากกว่าที่เขาได้รับเมื่อ 4 ปีก่อน

จะเกิดอะไรขึ้น หากทรัมป์ตีเนียนนั่งทำเนียบขาวเกิน 20 ม.ค.

การที่ทรัมป์เป็นคนที่คาดเดาอะไรไม่ได้ ทำให้มีการพูดถึงกันว่าอาจเกิดสถานการณ์ที่ทรัมป์อาจเสพติดอำนาจประธานาธิบดีเพลินจนลืมลงจากตำแหน่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญสหรัฐยืนยันว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐมีบทบัญญัติที่จะสร้างความมั่นใจว่าประธานาธิบดีทุกคนจะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อสิ้นสุดวาระของตน

ที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฎว่ามีประธานาธิบดีสหรัฐคนใดที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง แล้วได้ปฏิเสธที่จะออกจากตำแหน่ง เหมือนกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับวิธีการควบคุมอำนาจประธานาธิบดีก็ได้มีขึ้นตั้งแต่ปี 1787 ในการประชุมว่าด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมาชิกสภาคองเกรสได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

“ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะจินตนาการได้ว่าในอนาคตอาจมีประธานาธิบดีที่จะพยายามอยู่ในตำแหน่งเกินกว่าวาระของตนเอง ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่พวกเขาร่างขึ้นจึงไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ก็มีบทบัญญัติที่ป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้”

ศาสตราจารย์ริค พิลเดส ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญสหรัฐจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าว

รัฐธรรมนูญเป็นกุญแจปลดล็อกปัญหาประธานาธิบดีเก่าป่วนคนใหม่

ทั้งนี้ สภาคองเกรสสหรัฐสามารถทำการปลดประธานาธิบดีสหรัฐออกจากตำแหน่งใน 2 กรณี คือการยื่นเรื่องถอดถอน และการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 25 เพื่อปลดประธานาธิบดีซึ่งมีอาการป่วย หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่สำหรับประธานาธิบดีที่พยายามอยู่ในตำแหน่งเกินกว่าวาระของตนเองไม่ได้เข้าข่ายที่จะต้องถูกปลดออกตาม 2 กรณีข้างต้น เนื่องจากหากเขาอยู่ในตำแหน่งเกินกว่าวาระ เขาก็จะกลายเป็นพลเรือนในทันที โดยไม่ได้อยู่ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอีกต่อไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญสหรัฐบัญญัติว่า ประธานาธิบดีสหรัฐจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี และจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.หลังปีการเลือกตั้ง

ในการประชุมว่าด้วยรัฐธรรมนูญในปี 1787 ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับวาระการตำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐ โดยบางคนเสนอให้มีวาระ 3 ปี บางคนเสนอให้มี 7 ปี และบางคนเสนอสุดกู่แบบระบบกษัตริย์ให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีพ ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมตกลงกันว่าให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี โดยวาระของประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวัน Inauguration Day ซึ่งเป็นวันเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่

ก่อนหน้านี้ วัน Inauguration Day ถูกกำหนดให้อยู่ในเดือนมี.ค.นานกว่า 100 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 20 ม.ค.ในปี 1933 โดยรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 20 บัญญัติไว้ว่า วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะสิ้นสุดลงในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 20 ม.ค. และแม้ว่าประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 เขาก็จะต้องนับหนึ่งใหม่ด้วยการเข้าพิธีรับตำแหน่งใหม่ในวันดังกล่าว พร้อมกับกล่าวคำสาบานตนใหม่

คลิปวิดีโอไวรัลเสียดสีทรัมป์นั่งไวท์เฮ้าส์เพลิน

มีการส่งคลิปวิดีโอเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ โดยมีนักแสดงแต่งกายเลียนแบบทรัมป์นั่งพร้อมโต๊ะในห้องทำงานรูปไข่ ปากก็พล่ามไม่หยุด จนถึงเวลาที่ไบเดนจะเข้าทำเนียบขาวแล้ว ทรัมป์คนนี้ก็ยังคงพูดต่อไปเรื่อยๆ ทำให้คนขนย้ายของต้องยกทั้งโต๊ะทำงานที่มีทรัมป์นั่งอยู่พร้อมกับออกแอคชั่นไม่หยุด โยนเข้าไปในรถขนของขนาดใหญ่ ซึ่งไม่แน่ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจกลายเป็นเรื่องจริง

ไบเดนเตรียมลากคอทรัมป์ออกจากทำเนียบขาว หากยังคงดื้อด้าน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ไบเดนจะใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในการจัดการกับทรัมป์ หากเขายังคงไม่ยอมรับความพ่ายแพ้และอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยไบเดนมีความชอบธรรมที่จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า ซึ่งตั้งแต่หลังเวลา 12.00 น.ทรัมป์จะกลายเป็นพลเรือนธรรมดา และหากเขายังคงดึงดันอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป ไบเดนก็จะใช้อำนาจในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐในการออกคำสั่งให้ทหารหรือเจ้าหน้าที่ราชการลับควบคุมตัวทรัมป์ออกจากทำเนียบขาว เนื่องจากหากเขายังอยู่ในนั้น ก็จะถูกดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุก

ทางด้านทีมงานของไบเดนได้เตรียมการรับมือในเรื่องนี้แล้ว โดยได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า “รัฐบาลสหรัฐมีความสามารถในการนำตัวผู้บุกรุกออกจากทำเนียบขาว”

รัฐธรรมนูญยังเปิดช่องตั้งรักษาการประธานาธิบดี หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง

นอกจากนี้ หากปรากฎว่าเมื่อถึงวันที่ 20 ม.ค.2564 ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าใครเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้สภาคองเกรสเข้าแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว โดยการแต่งตั้งรักษาการประธานาธิบดี เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสุญญากาศทางการเมือง

ในปี 1792 กฎหมายสืบต่อตำแหน่งประธานาธิบดีฉบับแรกระบุว่า ประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้ที่อยู่ในอันดับ 1 ในการรับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี หากไม่มีประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีในขณะนั้น อันเนื่องจากการเสียชีวิต การลาออก การถูกปลดออกจากตำแหน่ง การไร้ความสามารถ หรือขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง

ในปี 1886 สภาคองเกรสได้ทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยระบุให้รัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ในอันดับ 1 ในการรับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี

ต่อมาในปี 1947 ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนลงนามแก้ไขกฎหมายสืบต่อตำแหน่งประธานาธิบดี โดยระบุให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในอันดับ 1 ในการรับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ตามมาด้วยประธานวุฒิสภา และมีการใช้กฎหมายดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

อดีตที่ปรึกษาบุช สอนมวยทรัมป์ให้ยอมรับความจริง

จอห์น ยู อดีตที่ปรึกษากฎหมายของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวว่า ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ทันทีที่วาระการดำรงตำแหน่งของเขาสิ้นสุดลงตามที่มีการตัดสินจากคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง

“เขาไม่จำเป็นต้องยอมรับความพ่ายแพ้ก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าในวันที่ 20 ม.ค. วาระการดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์จะสิ้นสุดลง และของโจ ไบเดนจะเริ่มขึ้น”

ยูกล่าว

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญสหรัฐฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 20 บัญญัติไว้ว่า ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งได้รับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุดจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ณ เวลา 12.00 น.ของวันที่ 20 ม.ค. ดังนั้นวาระของประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะสิ้นสุดก่อน 12.00 น.ของวันดังกล่าว

“ทรัมป์อาจจะบอกว่า ‘ผมไม่ลาออก ผมไม่ยอมแพ้’ แต่เวลาเที่ยงของวันที่ 20 ม.ค.เขาจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีอีกต่อไป โดยข้าราชการ กองทัพ และรัฐบาลจะต้องแสดงความจงรักภักดีต่อผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งผมคิดว่าคือโจ ไบเดน และเขาจะกลายเป็นประธานาธิบดี ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์จะกลายเป็นประชาชนธรรมดา ไม่ว่าเขาจะพูดอย่างไรก็ตาม”

ยูกล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ก็มักจะมีข่าวโกงการเลือกตั้งที่นี่บ้าง ที่โน่นบ้าง แต่การที่ทรัมป์จะคว่ำผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ เขาจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีการโกงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น และเขายังต้องสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งที่ตามหลังไบเดนในหลายรัฐให้ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะทำได้

คำคมที่น่าจะเข้าหูทรัมป์

In Focus วันนี้ ขอจบด้วยคำกล่าวของจอห์น อาร์ ไวล์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมิดเดิล เทนเนสซี สเตท ซึ่งพูดไว้อย่างน่าฟัง และน่าจะเข้าถึงหูของทรัมป์ว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่คู่ชิงประธานาธิบดีควรจะกล่าวยอมรับความพ่ายแพ้ แม้ว่าสิ่งนี้ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่การปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าวได้ช่วยยกชูระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ แม้ในยามที่เกิดความวุ่นวายและแตกแยกจากการเลือกตั้ง”

“กองทัพบกและกองทัพเรือไม่ได้ช่วยให้สหรัฐรวมตัวเข้าด้วยกัน แต่เป็นการที่เรามีความผูกพันด้วยหลักการที่ยิ่งใหญ่ และความเหมือนของเราก็ได้ช่วยผูกพันเรามากกว่าความแตกต่าง”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top