นักเศรษฐศาสตร์ มองโควิดหนุนเทรนด์ 5D เกิดเร็วขึ้น หนี้ท่วม-เหลื่อมล้ำ-ดิจิทัล

นายสันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist และ Managing Director บริษัท Sea Limited กล่าวปาฐกถา เรื่อง “เศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ในวันที่โลกหมุนเร็วขึ้น” ในงาน SEC Capital Market Symposium 2020 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และอนาคตหลายหลายอย่างที่คิดว่าจะเกิดขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า กลับถูกเร่งให้มาถึงเร็วขึ้น

สำหรับเทรนด์ที่ถูกเร่งขึ้นจะมีด้วยกัน 5D ได้แก่

1. Debt Accumulation หรือ หนี้ท่วม ซึ่งหลายประเทศจะต้องเจอกับปรากฏการณ์หนี้ท่วม โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะกลับไปสูงเทียบเท่ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา หรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market :EM) ตัวเลขก็จะสูงเป็นประวัติศาสตร์ ส่วนประเทศไทยเอง หนี้สาธารณะก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 50% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่หนี้สาธารณะ แต่เป็นหนี้ภาคเอกชน โดยเฉพาะที่มาจากหนี้ภาคครัวเรือน อยู่ที่ 83% ของจีดีพี และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากรายได้ที่ลดลง

หนี้สาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงิน และตลาดทุนโลก ที่อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “2 Low and 2 Highs” โดย 2 Low คือ

  1. .การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และกระทบศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวถึงมาตั้งแต่ต้นปี คือการเกิดสภาวะแผลเป็น เช่น ธุรกิจปิดกิจการ, คนตกงาน ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่สามารถย้ายอุตสาหกรรมได้โดยง่าย, เศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกอาจเป็นเหมือนนักกีฬา ที่พอบาดเจ็บแล้ว แม้จะกลับมาเล่นใหม่ได้ก็ไม่สามารถวิ่งได้เร็วเหมือนเดิม กระโดดไม่สูงเหมือนเดิม จากสภาวะร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม
  2. อัตราดอกเบี้ยที่น่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 66 ส่งผลให้ทั่วโลกอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้ามายังตลาดเกิดใหม่ (EM) ทำให้เกิด 2 Highs หรือบางประเทศประสบกับภาวะค่าเงินแข็งค่า ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เห็นได้จากปัจจุบันที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น และหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สภาวะเดิม 2 Low and 2 Highs ตอกย้ำแผลเก่าที่มีอยู่แล้ว คือ สภาวะที่เกิดขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุ คนวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้น จะต้องพึ่งพาการพัฒนา Productivity หรือประสิทธิภาพของแรงงานมากขึ้น ซึ่งหากประสิทธิภาพของแรงงานไม่ได้โตขึ้น การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจก็จะช้าลง จากเดิมที่โตกว่า 4% ก็จะโตเป็นกว่า 2% นอกจากนั้น คนจะเข้าวัยเกษียณมากขึ้น และมีแนวโน้มออมเงินมากขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดการเงินในระบบธนาคารที่สูงขึ้น ถ้าไม่มีการนำสภาพคล่องออกมาใช้ เช่น การลงทุนโรงงาน เครื่องจักร ก็อาจทำให้สภาพคล่องล้นระบบ ซึ่งหากดูตัวเลขการเงินของประเทศไทย จะเห็นว่าตัวเลขการลงทุนมีสัดส่วนต่อจีดีพีเป็นตัวเลขขาลงมาโดยตลอด 8 ปี ขณะเดียวกันเมื่อมีการลงทุนน้อย นำเข้าเครื่องจักรน้อย การค้าเกินดุลก็จะสูงขึ้น ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ขณะที่สิ่งที่ตามมากับภาวะนี้ คือ ความต้องการเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ โดยคนกู้ก็ต้องการวิธีระดมทุนใหม่ ๆ ฝั่งคนออมก็ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือกระจายการลงทุนออกไปจากตลาดหุ้น อย่างการลงทุนใน Cryptocurrency ซึ่งมองว่าจากนี้จะเห็นการลงทุนรูปแบบใหม่นี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ D ที่ 2 คือ Divided หรือความเหลื่อมล้ำ เนื่องด้วยวิกฤติโควิด-19 นี้แตกต่างกว่าที่เคยเจอ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่โจมตีคนที่มีสายป่านสั้น โดยทางธนาคารโลกประเมินว่า โควิด-19 จะส่งผลให้มีคนยากจนราว 111-150 ล้านคนทั่วโลก ทำให้อัตราความยากจนถอยหลังไปเหมือนกับ 3-4 ปีก่อน ขณะที่ไทยเองก็มีความเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและแรงงานที่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งการศึกษาของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่าประมาณ 30% ของธุรกิจน่าจะมีปัญหาสภาพคล่องหรือปัญหาในการชำระหนี้ และกว่า 90% ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ส่วนแรงงานที่อยู่ในภาคบริการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โดยพบว่า 9 ล้านคน มีการศึกษาไม่ถึงปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางมาก

นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเปราะบางดังกล่าว ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างจำกัด โดยจากการศึกษาของบริษัทร่วมกับพันธมิตร พบว่าธุรกิจเอสเอ็มอี คิดเป็น 1 ใน 4 เท่านั้นที่พึ่งพาสถาบันการเงินในช่วงวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งการเงิน โดยโจทย์ต่อไป คือจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งการเงินได้มากขึ้น

D ที่ 3 คือ Divergence หรือการแยกกัน ระหว่างเศรษฐกิจในเอเชียและโลกตะวันตก ซึ่งขั้วอำนาจจะขยับมาที่เอเชียมากขึ้น โดยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว และโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้เห็นภาพชัดเจน เนื่องจากทางอเมริกาและยุโรป ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ เห็นได้จากการล็อกดาวน์ในรอบ 2 และ 3 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเมื่อดูประเทศจีน เวียดนาม เศรษฐกิจได้มีการฟื้นตัวแล้ว เห็นได้จากจีดีพีของประเทศจีนที่ขณะนี้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ไปแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชีย IMF ก็คาดว่าน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าอเมริกาและยุโรป

D ที่ 4 เป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในช่วง โควิด-19 หรือการเข้าสู่ Digitalization หรือ digital transformation ซึ่งการศึกษาพบว่าส่วนหนึ่งที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นน่าจะมีสาเหตุมาจาก ไม่ค่อยมีบริษัทที่เป็นกลุ่ม New Economy หรือ เทคโนโลยี, ดิจิทัล แพลตฟอร์มมากนัก

ขณะที่จากการศึกษาของกูเกิล-เทมาเส็ก พบว่า ศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตเฉลี่ย 25% และมีมูลค่า 50,0000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซี่งจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โลจิสติกส์ และการเงิน เป็นต้น แต่ไม่ใช่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะได้รับปัจจัยบวกตามไปด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น Agritech เข้ามาช่วยด้านเกษตร, E-commerce ช่วยค้าส่งค้าปลีก, ฟินเทคช่วยการเงิน ตลาดทุน เป็นต้น โดยโจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เทรน Digital transformation เข้ามาช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real economy Real Sector) ให้ได้

D ที่ 5 คือ Degradation of Environment หรือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นคลื่นลูกที่สาม หรือวิกฤติสิ่งแวดล้อม แต่โควิด-19 ทำให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยในวงการนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ของโลก เช่น BlackRock ออกมาเร่งการลงทุนในบริษัทที่ดีกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยตัวเลขชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในลักษณะดังกล่าวปัจจุบันสินทรัพย์ที่มาลงทุนในกลุ่มนี้มีสูงถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโอกาส Green Financing ในอาเซียนเพียงอย่างเดียวสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญต่อด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลในหลายประเทศก็มองวิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการ reset ใหม่ และอยากจะใช้การฟื้นตัวพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใส่เข้าไปด้วย หรือ Green Recovery เช่น ยุโรป, เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยก็มีการออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนเพื่อความยั่งยืน 30,000 ล้านบาท

นายสันติธาร กล่าวว่า โจทย์สำคัญของนโยบายตลาดทุน ตลาดเงินในโลกยุคใหม่ มองว่าจะต้องมีด้วยกัน 4 ข้อ

โดยโจทย์แรก คือ Competitiveness หรือการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องทำให้ประเทศไทยแข่งได้ในโลกใหม่ ซึ่งเครื่องยนต์สำคัญคือ เศรษฐกิจดิจิทัล วงการสตาร์ทอัพ จะเป็นกลุ่มที่สำคัญมาก ขณะเดียวกันตลาดทุน จะต้องไม่ใช่เพียงการระดมทุนเท่านั้น แต่ต้องมองบริษัทตั้งแต่การเป็นต้นกล้าว่า สตาร์ทอัพนั้นมีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่มากับเศรษฐกิจดิจิทัลหรือไม่ เช่น จะดึงดูดกองทุนประเภท venture capital เครือข่ายการลงทุน Angle Investor ที่มีทั้ง เงินทุน มีทั้งเครือข่าย และเข้าใจความเสี่ยงเป็นอย่างดีให้มาลงทุน สตาร์ทอัพของไทยมากขึ้นได้หรือไม่, จะพัฒนา การระดมทุนรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การออกสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านบล็อกเชน โดยการหาสมดุลระหว่าง ความปลอดภัย ความเสี่ยงและการเสริมสร้างนวัตกรรม

นอกจากนี้ เรื่องคน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้, ด้านปัญญาประดิษฐ์ และด้านบล็อกเชน ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการอย่างมาก โดยจะทำอย่างไรที่จะดึงคนเข้ามาตรงนี้ให้ได้ หรือพัฒนาทักษะคนในเรื่องเหล่านี้ ประกอบกับเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็มีการดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของ Digital ID เพื่อเพิ่มความสะดวกในแง่ของการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางดิจิทัล ในการเปิดบัญชีจากที่ไหนก็ได้ อีกทั้งการกำกับดูแล โดยกฎหมายที่ล้าสมัย ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อดิจิทัล จะต้องมีการแก้ไขให้ทันสมัยขึ้นด้วย

โจทย์ที่ 2 คือเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยตลาดทุน ตลาดเงินควรมีส่วนช่วยเสริมความเท่าเทียม e Quality ซึ่งเทคโนโลยีจะมีบทบาทอย่างมาก โดยจะทำอย่างไรให้คนที่มีไอเดียแต่ไร้เงินทุน ซึ่งมีธุรกิจไร้หลักประกัน ขาดสลิปเงินเดือน ไม่มีบัตรเครดิต เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ผ่านการนำเอา Big Data มาสร้างเป็นคะแนนความน่าเชื่อถือ เพื่อลดการพึ่งพาหลักประกัน นำไปใช้ได้ในระบบธนาคาร, ตลาดทุน รวมถึงช่วยฝั่งคนออมด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงบนิการการเงินได้

โจทย์ที่ 3 คือเรื่องของ ESG ตลาดทุนต้องมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการนำแนวคิดของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง Green Finance ให้กับภูมิภาค CLMV และโจทย์ที่ 4 คือ Resilience โดยความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ตลาดทุนจะต้องเข้ามาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจ โดยอาจจะให้สถาบันการเงิน นักลงทุน มีการประเมินความเสี่ยงของพอร์ตของตนเองต่อภัยธรรมชาติ เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้น พอร์ตจะถูกกระทบเท่าไหร่ เป็นต้น รวมถึงพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อเข้ามาช่วยความเสี่ยงดังกล่าว เช่นการพัฒนาตลาดพันธบัตรวินาศภัย ให้สามารถประกันความเสี่ยงได้

“เทรนด์มี 5D ที่ถูกเร่งขึ้นด้วยโควิด-19 ทำให้เราต้องมาคิดใหม่โดยมีโจทย์สี่ข้อ คือเรื่องของความยั่งยืนเรื่องของความเท่าเทียม เรื่องของความสามารถในการแข่งขันและ เรื่องของ Resilience”

นายสันติธาร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 63)

Tags: , ,
Back to Top