คลังจ่อชงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ให้ ครม.พิจารณา

รมว.คลัง เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว-เศรษฐกิจชุดใหม่ให้ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า

นายอุตตม สาวนายม รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่จะเกี่ยวกับการดูแลความเชื่อมั่นผ่านการสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพื่อดูแลภาพรวมในช่วงเวลานี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก, การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า เพื่อให้มาตรการมีผลภายในเดือนมี.ค.นี้

นายอุตตม สาวนายม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ภาพ: thaigov.go.th)

สำหรับมาตรการชุดใหม่ จะเน้นดูแลเรื่องความเชื่อมั่นผ่านการสนับสนุนการอุปโภคบริโภค โดยจะมีการเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบผ่านการใช้จ่ายจากสวัสดิการที่รัฐบาลมอบให้ และยังมีมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว

หลังจากได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย โดยจะมีการจัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งจะมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีรายได้มากขึ้น ดูแลผ่อนภาระทางการเงินให้ ขณะเดียวกันก็จะมีมาตรการดูแลพนักงาน ลูกจ้างให้ยังมีงานทำ ไม่ตกงาน การผ่อนภาระทางการเงินด้านอื่น ๆ

นายอุตตม กล่าวว่า ทั้งหมดจะออกมาเป็นแพ็คเกจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะใช้เม็ดเงินในการดำเนินการพอประมาณ แต่รายละเอียดต้องรอให้ผ่าน ครม.ก่อน

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังได้เร่งให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเตรียมพร้อมการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายใน 1 เดือนครึ่งจากนี้ โดยน่าจะเริ่มเบิกจ่ายเงินล็อตแรกได้ประมาณ 1 แสนล้านบาทภายในเดือน พ.ค.นี้

รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส จำกัด (จีเอ็ม) จะถอนธุรกิจรถยนต์เชฟโรเลตออกจากตลาดของไทยภายในสิ้นปี 63 ว่า เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบกับการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงแสดงความสนใจและตั้งใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า

“เชื่อว่าเป็นแผนงานของบริษัทที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในประเทศอื่นที่บริษัทมีการลงทุนก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้สำหรับธุรกิจข้ามชาติที่บางทีจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจ มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในบางประเทศ เป็นเรื่องของบริษัทในการปรับตัว” นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับคณะสภาธุรกิจอาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) ต่างชาติยังแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการลงทุนในประเทศไทยถือเป็นโอกาส แม้ว่าขณะนี้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จากมาตรการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เชื่อมั่นว่าไทยมีความพร้อม และเมื่อปัจจัยลบต่าง ๆ คลี่คลายไป ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะลงทุนได้ในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top