BCH ลุ้น 2 รพ.เปิดใหม่ปีหน้า ปราจีนบุรี-เวียงจันทน์ EBITDA คุ้มทุนปีแรก

นายภูมิพัฒน์ ฉัตรนรเศรษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) เปิดเผยว่า การเปิดโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี ในวันที่ 1 ม.ค.64 และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ สปป.ลาว ต้นไตรมาส 2/64 มีโอกาสจะคุ้มทุนในระดับของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปีแรกที่เปิดดำเนินการ หากมีผู้ใช้บริการเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

“โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี…ถ้าเป็นไปตามแผน ก็จะ break even ระดับ EBITDA ได้ภายในปีแรก ส่วน bottom line คงต้องดูอีกทีเพราะมีส่วนประกอบของค่าเสื่อมและดอกเบี้ยจ่ายด้วย แต่ระดับ EBITDA เราไม่ห่วง เพราะที่ตั้งของโรงพยาบาลอยู่ใกล้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ส่วนสาขาเวียงจันทน์ที่จับกลุ่มให้บริการคนไข้ท้องถิ่น และคนทำงานต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเราเห็นดีมานด์ที่ชาวลาวเดินทางเข้ามาใช้บริการในไทยค่อนข้างเยอะ

ถ้าเป็นไปตามประมาณการไว้ EBITDA ในปีแรก ทำได้อย่างปริ่ม ๆ อยู่ที่คุณภาพที่เรานำเสนอ ปัจจัยสำคัญคือการเปิดด่าน ด่านเปิดเมื่อไหร่ เราสามารถเตรียมความพร้อมนำบุคลากรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลที่จะเข้าไปลงที่ สปป.ลาวได้ เชื่อว่าสาขานี้จะไม่เป็นภาระอะไรกับกลุ่มเรา น่าจะ break even ในระดับ EBITDA ได้ไม่อยากเย็นภายในปีแรก หรือเต็มที่ภายในปีครึ่ง”นายภูมิพัฒน์ กล่าว

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี ขนาด 115 เตียง มีความคืบหน้าโครงการ 99% ปัจจุบันใช้งบลงทุนแล้ว 750 ล้านบาท คงเหลืออีก 116 ล้านบาท จะรองรับกลุ่มคนทำงานชาวต่างชาติและผู้ประกันตนที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม 304 โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 64 คาดว่าจะมีผู้ประกันตนสมัครเข้าใช้สิทธิกับเครือโรงพยาบาลมากกว่า 5 หมื่นราย และโรงพยาบาลแห่งนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ของบริษัทตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

ส่วนโครงการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ขนาด 110 เตียง มีความคืบหน้าโครงการ 92.8% ปัจจุบันใช้เงินลงทุนไปแล้ว 965 ล้านบาท คงเหลืออีก 605 ล้านบาท จะรองรับการให้บริการแบบครบวงจรของคนไข้ท้องถิ่น ชาวต่างชาติที่ทำงานในลาว รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

นายภูมิพัฒน์ เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 10-15% จากปีนี้ ซึ่งนอกเหนือจากแรงขับเคลื่อนของการเปิดโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่งดังกล่าวแล้ว ยังได้แรงหนุนจากการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวหากมีการนำวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมาใช้ และมาตรการผ่อนปรนการเดินทางเข้าไทย ทำให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาไทยได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ผลประกอบการของโรงพยาบาลที่รองรับคนไข้ต่างชาติกลับมาเทิร์นอะราวด์ อย่างโรงพยาบาลเวิลด์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ (WMC) ขณะที่บริษัทก็จะยังคงให้บริการที่สอดคล้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง ซึ่งก็จะเป็นรายได้เสริมให้กับบริษัทด้วย

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐในส่วนของการตรวจคัดกรองโควิด-19 และการให้บริการสถานกักกันในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบริษัทยังคงดำเนินการต่อเนื่องให้สอดคล้องกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการที่ภาครัฐอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยด้วยวีซ่าระยะยาว

ปัจจุบันบริษัทให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 16 แห่ง ในการให้บริการโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine : ASQ) ซึ่งมีทั้งหมด 2,041 ห้อง ซึ่งการร่วมบริการจะสร้างรายได้ให้โรงพยาบาลประมาณ 15,000-16,500 บาท/คน และโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine : AHQ) ซึ่งโรงพยาบาลในเครือของบริษัททั้งหมดได้รับอนุญาตในการเข้าร่วมบริการ และพร้อมที่จะให้บริการเมื่อมีดีมานด์เข้ามา

นอกจากนั้นในเดือน ต.ค.63 ทางภาครัฐช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากสวีเดน และฟินแลนด์ โดยแรงงานกลุ่มนี้จะต้องเข้าสถานกักกันในรูปแบบ Organization Quarantine (OQ) ซึ่งตามข้อมูลแรงงานกลุ่มนี้มีทั้งหมด 4,361 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 1,278 ราย เป็นสัดส่วนที่โรงพยาบาลของบริษัทร่วมบริการด้วย

รวมถึงการที่ภาครัฐออกวีซ่าระยะยาวให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และนักท่องเที่ยวระยะยาว โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องพักในประเทศไทยเท่านั้น และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่รัฐบาลกำหนด เช่น กักตัว 14 วัน รวมถึงทำประกันการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะมีกำหนดถึง 30 ก.ย.64

ด้านปัจจัยสนับสนุนรายได้ประกันสังคมของเครือบริษัท มาจากการที่สำนักงานประกันสังคม ออกประกาศให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ได้ที่โรงพยาบาลประจำสิทธิของตัวเองปีละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.-31 ธ.ค.63 และในปี 64 จะสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลประจำสิทธิของตัวเองได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึง 31 ส.ค.64

โดยโรงพยาบาลสามารถตั้งเบิกกับประกันสังคมได้ที่วัคซีนเข็มละ 450 บาท สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ และเข็มละ 350 บาท สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ซึ่งในกลุ่มบริษัทมีผู้ประกันตนที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปคิดเป็น 17% ของผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนไว้กับโรงพยาบาลในเครือ โดยในจำนวนนี้มี active vistor ถึง 57% ที่เป็นผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลเป็นประจำ

นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคม ยังออกประกาศให้มีการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับบ้านได้ ทำให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว และลดระยะเวลาการรอคอย สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการสามารถตั้งเบิกอัตราค่าบริการทางการแพทย์ได้ 9,600 บาทต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักสัมพัทธ์ (RW) ซึ่งโรงพยาบาลในเครือได้รับสิทธิและพร้อมให้บริการแก่ผู้ประกันตนตั้งแต่ไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top