ฝ่ายค้านเมินส่งตัวแทนร่วมสมานฉันท์-จ่อขุดซักฟอกบ้านพักนายกฯ

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือมายังพรรคเพื่อขอให้ฝ่ายค้านเสนอชื่อบุคคลเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ดำเนินการ 2 คนนั้น ที่ประชุมมีมติว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ 1.องค์ประกอบของคณะกรรมการยังไม่เป็นกลางพอที่จะสามารถเข้าไปร่วมได้ และ 2.คู่ขัดแย้งบางส่วนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับคณะกรรมการดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นเมื่อคู่ขัดแย้งปฏิเสธแบบนี้แล้วทางออกจะจบลงอย่างไร

สำหรับคณะกรรมการสมานฉันท์มีกรรมการทั้งสิ้น 21 คน ประกอบด้วย 1.ผู้แทนฝ่ายผู้ชุมนุม 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นต่างกับรัฐบาล) 2.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน 3.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 4.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 5.ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา 2 คน 6.ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นอื่น 2 คน ( กลุ่มเรียกร้องเห็นด้วยกับรัฐบาล ) 7.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเสนอชื่อ 3 คน โดยคำนึงถึงตัวแทนให้ครอบคลุมถึงภูมิภาคต่างๆ บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเสนอ 1 คน บุคคลซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเสนอ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4 คน รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเลขานุการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 4 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า ในส่วนของการทำงานติดตามสถานการณ์ในสภาฯ นั้น ขณะนี้มี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในวาระ 2 โดยมีผู้ขอแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการฯ ถึง 37 คน 2.กฎหมายประชามติ ซึ่งจะประเมินสถานการณ์ต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เหมือนการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 60 ที่จำกัดสิทธิและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น 3.คณะกรรมการสมานฉันท์พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่เข้าร่วม และ 4.สถานการณ์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สิ้นสุดลงหรือไม่กรณีพักอยู่บ้านหลวง ซึ่งทุกคนคงทราบคำวินิจฉัยแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกต 2 เรื่อง คือ 1.ระเบียบของกองทัพบกว่าด้วยบ้านพักรับรองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้บ้านพักรับรองในภายหลังหรือไม่ ซึ่งพรรคมอบหมายให้ ส.ส.ไปติดตามและแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป

นายประเสริฐ กล่าวว่า ต้องนำข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นไปตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้าเข้าข่ายผิดกฎหมายก็จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่การประชุมสภาฯสมัยนี้สามารถยื่นญัตติได้ถึงเดือน ก.พ.64 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเรื่องต่างๆ อยู่ ซึ่งมีผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่ไม่ชอบมาพากลอยู่พอสมควร หากได้รายละเอียดครบถ้วนจะนำไปซักฟอกรัฐบาลในสภาฯ อย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ขออุบไว้ก่อนใกล้ถึงเวลาอภิปรายจะมีการเปิดเผยต่อไป แต่รับรองว่าฝ่ายค้านมีข้อมูลเด็ดแน่นอนทั้งในส่วนของนายกฯ และรัฐมนตรีคนอื่นๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top