ศบค.วางมาตรการ 3 ระดับสกัดโควิดจากเพื่อนบ้าน วอนผู้ลักลอบเข้าตั้งแต่ พ.ย.แสดงตัว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นที่มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติแล้วภายหลังตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจในจังหวัดท่องเที่ยวของไทยที่อยู่ติดกับแนวชายแดนได้รับผลกระทบ

ดังนั้น ที่ประชุม ศบค.ได้มีการวางมาตรการ 3 ระดับ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว

  • ระดับที่ 1 ระดับประเทศ ทั้งในส่วนของเมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย จะให้หน่วยงานงานภาครัฐประสานงานกันระหว่างประเทศ ในการใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคเป็นหลัก พร้อมเน้นย้ำการดูแลป้องกันและการปฏิบัติตัวในสถานบันเทิง และคาสิโน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทำหน้าที่ประสานงานกัน
  • ระดับที่ 2 ระดับชายแดน โดยให้นายอำเภอ, อสม. ตลอดจน เจ้าหน้าที่ของ รพ.สต. มีบทบาทหลักในการทำหน้าที่เฝ้าระวังผู้แปลกหน้าที่เดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย
  • ระดับที่ 3 ระดับเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และที่สำคัญคือการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิดอย่างเคร่งครัด ทั้งการใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การล้างมือหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ และการเว้นระยะห่าง เป็นต้น

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการลักลอบเข้าเมืองมาทางจังหวัดในภาคอีสานอีก 58 รายนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน แต่จะไม่ใช้เวลานาน โดยจะรีบผลักดันให้กลับออกนอกประเทศต่อไป

โฆษก ศบค. ยังย้ำด้วยว่า ผู้ใดที่เดินทางจากเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย ระยะเวลาตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย. โดยไม่ได้เข้ารับการกักตัวขอให้มาแสดงตัว โดยเฉพาะผู้ที่มาจากสถานบันเทิง หรือคาสิโนที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีการตรวจติดตามอาการ เพราะหากนับระยะเวลาจากวันที่พบผู้ป่วยรายแรกจากท่าขี้เหล็กที่เข้ามาไทยจนถึงปัจจุบัน จะยังไม่ครบระยะ 14 วัน ดังนั้นจึงยังไม่สามารถวางใจได้

“ถ้าท่านที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเมียนมาตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว (พ.ย.) ตอนนี้อยู่ที่จังหวัดไหน อำเภอไหนในประเทศไทย ขอให้ท่านแสดงตัว และเข้ามาตรวจได้…ขอร้องท่านที่ไปในช่วงนั้น เพราะเรายังไม่พ้น 14 วันนับตั้งแต่ที่เจอรายแรก (จากท่าขี้เหล็ก)”

โฆษก ศบค.ระบุ

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย ตลอดจนจังหวัดต่างๆ ขอให้สบายใจได้และไม่ต้องกังวล ยังสามารถเดินทางไปได้ทุกที่ แต่ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากอนามัย

สำหรับข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ณ วันที่ 9 ธ.ค.63 มีทั้งสิ้น 46 ราย แบ่งเป็น การเข้ามาทางเส้นทางธรรมชาติ 17 ราย, เข้ามาทางจุดผ่านแดน 27 ราย และเป็นผู้ป่วยจากผู้สัมผัสในประเทศ 2 ราย

ยันควบคุมโรคได้ดี

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพบผู้ป่วยรายแรกใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 พ.ย.63 ซึ่งนับจนถึงวันนี้จะเป็นระยะเวลา 12 วัน และผู้ติดเชื้อรวม 46 ราย ซึ่งในภาพรวมสามารถนำกลับไปอยู่ใน State Quarantine ถือว่าสถานการณ์ควบคุมได้

“ขอให้มั่นใจ ที่เชียงใหม่ไม่พบผู้ป่วยมาตั้งแต่ 5 ธ.ค.แล้ว ส่วนเชียงรายที่พบ ก็เกิดจากระบบการทำงานเชิงรุกที่เรานำตัวคนไทยที่กลับจากเมียนมาเข้าสู่ระบบ พะเยาไม่มีเคสใหม่ตั้งแต่ 1 ธ.ค. กทม.ไม่มีเคสใหม่ตั้งแต่ 6 ธ.ค. พิจิตร ตั้งแต่ 1 ธ.ค. ราชบุรี ตั้งแต่ 2 ธ.ค. และสิงห์บุรี ตั้งแต่ 4 ธ.ค.

เพราะฉะนั้นในจังหวัดต่างๆ เหล่านี้ การควบคุมโรคทำได้ดี มีความเข้มแข็งมาก…ดังนั้นไม่มีปัญหา ท่านสามารถไปเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ที่กล่าวมานี้และทุกจังหวัดในประเทศไทยได้ แต่ขอให้ใส่ Mask อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคได้อย่างดี เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และต้องสแกนไทยชนะ”

นพ.โอภาสกล่าว

พร้อมย้ำว่า หากพบเห็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทั้งคนไทย หรือต่างชาติ หากไม่เข้าระบบการกักตัว 14 วัน ขอให้รีบแจ้งหน่วยงานภาครัฐทันที หรือที่โทร. 1422

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ด้วยว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ

  1. เมื่อไวรัสกลายพันธุ์แล้วจะแพร่กระจายเร็วขึ้นหรือไม่
  2. มีความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือไม่
  3. มีการใช้วัคซีนป้องกันน้อยลงหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อมูลทางการแพทย์พบว่าสายพันธุ์ของไวรัสโควิดที่ระบาดในปัจจุบัน คือ สายพันธุ์ G ที่พบมากกว่า 80% ในทั่วโลก ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับไวรัสที่ระบาดที่อู่ฮั่นในช่วงแรก

อย่างไรก็ดี มีการพบว่าไวรัสสายพันธุ์ G นี้ สามารถแพร่ระบาดได้มากกว่า แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่า จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดไวรัสโควิดในระยะหลังลดลงจากช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top