Media Talk: ผ่าเทรนด์การตลาดปี 2564 กับ 3 กูรูจากเวที Unlock The Future 2021

Brand Buffet เว็บไซต์ข่าวการตลาด ธุรกิจ และโฆษณา ได้จัดงานเสวนาประจำปี BRAND TALK ครั้งที่ 20 ในหัวข้อ “Unlock The Future 2021: ปลดล็อคอนาคตสู่โลกการตลาดยุคใหม่” เพื่อตั้งรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยมีวิทยากรพิเศษและนักการตลาดชั้นนำของประเทศไทยในหลากหลายวงการธุรกิจ มาร่วมแบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจกันอย่างคับคั่ง

Disruptive to Digital ปรับตัว ปรับความคิด ก่อนจะถูก Disrupt

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหนึ่งในกูรูที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “Disruptive to Digital ปรับตัว ปรับความคิด ก่อนจะถูก Disrupt” ได้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า ปี 2021 ต้องเป็นปีที่ดีกว่าที่ผ่านมา การคิดดีคิดบวกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งโลกยุคดิสรัปชันเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมานาน ในอนาคตมนุษย์ย่อมจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ หรือ AI ดังนั้นการรู้โลก รู้คน รู้เทคโนโลยี ถือเป็นยันต์ที่จะทำให้เราสามารถต่อสู้ในโลกดิสรัปชันได้

รู้โลก รู้คน รู้เทคโนโลยี

  • รู้โลก ในที่นี้หมายความว่า การเป็นคนที่รู้เท่าทันโลกในยุคปัจจุบัน เนื่องจากโลกจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ว่าจะไม่มีสถานการณ์โควิดเข้ามา เห็นได้จากช่วงต้นปี เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี แต่ก่อนหน้านั้นกลับมีเหตุการณ์แม่น้ำโขงแล้งที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
  • รู้คน เราต้องเข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันที่จำนวนประชากรน้อยลง ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยมีมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องจัดการทุนมนุษย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้
  • รู้เทคโนโลยี เทคโนโลยีถือเป็นอาวุธลับของมนุษย์ ที่จะช่วยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องมีการใช้อย่างเหมาะสม

จาก Globalization สู่ Localization

ดร.สุชัชวีร์ กล่าวด้วยว่า คนเก่งถือเป็นสมบัติของโลกที่มีการเคลื่อนที่ เคลื่อนย้ายไปมาได้ แต่สถานการณ์โควิดในปัจจุบันทำให้การเคลื่อนย้ายคนไม่สามารถทำได้ ซึ่งต่อไปโลกจะไม่มีคนกลางอีกต่อไป จะมีเพียงขุนกับเบี้ยเท่านั้น โดยขุน หมายถึงเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ลาซาด้า และเบี้ย คือ ผู้ที่เข้าถึงแพลตฟอร์ม เช่น คนซื้อของ ที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้

โลกยุคใหม่คือ ยุคแห่ง Localization ซึ่งหมายถึงโลกที่ทุกประเทศสามารถทำทุกอย่างให้จบในครั้งเดียว ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ที่มีตั้งแต่กระบวนการผลิตและบริโภค ซึ่งหลายประเทศรู้ว่าการไม่พัฒนาเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

การไม่เปลี่ยนแปลง จึงเท่ากับ “สูญพันธุ์” เลยก็ว่าได้ ดังนั้น Transform ในยุคปัจจุบันถือเป็นศัพท์ที่ไม่ควรจะใช้แล้วสำหรับคนที่ต้องการจะอยู่รอด การเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงไม่ควรทำ เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงแบบวินาทีต่อวินาที อีกทั้งปัจจุบันคือโลกแห่งดิสรัปชัน และที่สำคัญคู่แข่งที่น่ากลัวไม่ใช่บริษัทใหญ่ ๆ อีกต่อไป แต่อาจจะเป็นคนเพียงคนเดียวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ไรอัน เด็กอายุเพียง 8 ขวบ ที่กลายมาเป็นยูทูปเบอร์ชื่อดังที่ทำรายได้สูงสุดบนแพลตฟอร์ม YouTube

ผู้บริหาร LINE Thailand ชี้ Data ช่วยนักการตลาดรับมือกับอนาคต

ขณะที่ คุณกฤษณะ งามสม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโฆษณา LINE Thailand ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาด Future-Proof Marketing Solutions ว่า กลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสามารถทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใด กุญแจสำคัญคือ “Data” หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาด ผู้บริโภค ที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้ได้ในทุกช่วงเวลา

โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านในปี 2563 โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอิทธิพลจากโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงทำให้การทำการตลาดผ่านช่องทาง Offline เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถช่วยทำให้ธุรกิจดำรงต่อไปได้อย่างราบรื่น เนื่องจากขาดช่องทางการรับ Data นอกจากนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เริ่มปิดกั้นการส่งผ่านข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์ม ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น

ทางออกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ จึงเป็นการสร้างฐานข้อมูลหรือสร้างช่องทางเพื่อรับ 1st Party Data (ข้อมูลที่รับจากผู้บริโภคโดยตรง) เป็นของตัวเองและไม่พึ่งพาแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งสามารถทำได้ตาม 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

คุณกฤษณะ ยังได้ยกตัวอย่างการสร้างช่องทางสำหรับรับ 1st Party Data ด้วย Line Official Account ซึ่งสามารถรับข้อมูลจากผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านวิธีต่างๆ อาทิ การสนทนาผ่านแชท การโฆษณาผ่านการ Add Friend หรือการมอบ Mission Sticker ให้ผู้บริโภคที่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อรับสติ๊กเกอร์ฟรี

ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโฆษณา LINE Thailand กล่าวด้วยว่า เมื่อเรามี 1st Party Data อยู่ในมือเรา จึงเหมือนกับการมองเห็นทิศทางที่ธุรกิจจะสามารถไปต่อได้ ยิ่งมี Data มากเท่าไร ธุรกิจก็ยิ่งมีความได้เปรียบเท่านั้น กล่าวได้ว่า More Data = More Revenue = Less Risk ข้อมูลมาก กำไรยิ่งมาก ความเสี่ยงยิ่งน้อย

  • Build : สร้างช่องทางสำหรับการรับ 1st Party Data
  • Analyse : นำ 1st Party Data ที่ได้รับมาวิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและแนวโน้มของผู้บริโภค
  • Engage : เข้าถึงผู้บริโภคด้วยวิธีต่างๆ ตามที่ได้วิเคราะห์ เช่น ผู้บริโภคแต่ละกลุ่มอาจมีความชอบ ความสนใจ หรือพฤติกรรมการซื้อที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงเลือกหยิบยื่นสิ่งที่มีแนวโน้มว่า จะตรงกับความสนใจของผู้บริโภคมากที่สุด

สำหรับเวที Future of Tech นั้น คุณธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE BK, คุณปฐม อินทโรดม อุปนายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย และคุณสุมล อนันตธนะสาร Agency Business Lead จาก Google Customer Solutions ได้ขึ้นเวทีผ่าเทรนด์อนาคต เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทุกคนควรจะต้องปรับตัวอย่างไร ทั้งในมุมมองของการใช้ชีวิต และปรับธุรกิจให้อยู่รอดในอนาคต

ธุรกรรมทางการเงินจะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น

ในส่วนของอนาคตทางการเงินนั้น คุณธนา กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ภาคการเงินจะปรับไปใน 2 มิติ คือ 1. การเงินจะเข้าถึงได้ในวงกว้างขึ้น และ 2. การเงินจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยการใช้งานแอปพลิเคชันหรือธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกปรับรูปแบบให้ใช้งานง่ายและสะดวกมากขึ้น เพื่อทำให้ประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภคราบรื่น รวมถึงเทรนด์ “Invisible Banking” ที่ธนาคารจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของลูกค้าอย่างกลมกลืนนั้น ก็จะมาแรงด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การ “ตัดบัตร” ที่ทำให้เราใช้บริการต่าง ๆ ได้โดยลดขั้นตอนการชำระเงินที่ยุ่งยาก ดังนั้น หากธุรกิจอยากปรับตัวตาม ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า ซึ่งตรงนี้ Data Analytics และ Machine Learning จะเข้ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก

ปรับมุมมองต่อเทคโนโลยี

ด้านคุณปฐม กล่าวว่า การปรับ Mindset ถือเป็นเรื่องสำคัญในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของผู้คน เนื่องจากปัจจุบัน คนเรามองเทคโนโลยีในแง่ลบมากเกินไป เพราะมักกลัวว่าเทคโนโลยีอย่าง AI, IoT และ Big data จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่อยากให้มองว่า สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาช่วยทำให้ธุรกิจไปได้สวย อีกทั้งยังทำให้ชีวิตคนเราง่ายขึ้น เพราะในท้ายที่สุด เทคโนโลยีทั้ง 3 ตัวนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอนาคตและวิธีการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รู้จักผู้บริโภคผ่านการเก็บ Data

คุณสุมลกล่าวว่า Google ได้จับมือกับเทมาเส็ก (Temasek) จัดทำรายงานวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีชื่อว่า e-Conomy ซึ่งเปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 30% ส่วนจำนวนชั่วโมงการใช้ออนไลน์อยู่ที่เฉลี่ย 4.3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก

สิ่งที่น่าสนใจคือ ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตมากในปีนี้ ฉะนั้น การเก็บ Data เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ไปวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าจึงเป็นประเด็นที่ทุกคนต้องใส่ใจ และที่สำคัญคือ Data เหล่านั้นจะต้องนำมาใช้วิเคราะห์ได้ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุง พัฒนา และต่อยอดธุรกิจ ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการสามารถใช้ Google Analytics ไปจัดการกับข้อมูลหลังบ้าน ด้านการทำโฆษณาออนไลน์ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่ง Google เองก็มีโซลูชันที่ช่วยตอบสนองด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า โดยใช้ AI วิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อยิงโฆษณาให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ถูกที่ ถูกเวลา

สำหรับประเด็นเรื่องการเก็บข้อมูลลูกค้านั้น คุณธนากล่าวว่า อยากให้ทุกคนและทุกองค์กรถามตัวเองว่า “เราเก็บข้อมูลอะไรบ้าง และเก็บไว้ที่ไหน” เพราะนี่คือโจทย์สำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจ และเมื่อมีการเก็บข้อมูลให้เป็นระเบียบแล้ว สิ่งต่อไปที่จะต้องมาดูก็คือ “ข้อมูลที่เราได้มานั้นสามารถนำไปใช้สร้าง Insight ได้รึเปล่า” เพราะการเก็บข้อมูลถือเป็นรากฐานสำคัญ เป็นก้าวสำคัญก่อนที่เราจะเริ่มวิ่ง

ใช้เทคโนโลยีปรับบริการให้ตรงใจลูกค้า

คุณปฐมได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ปัจจุบันเรามีแอปพลิเคชันสั่งอาหารมากมาย ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนพฤตกิรรมให้คนเริ่มขี้เกียจเดินออกไปปากซอยเพื่อซื้ออาหาร ดังนั้น เมื่อเรารู้นิสัยคนแล้ว เราสามารถใช้ Data ตรงนี้ในการสร้างบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า และควรหาเครื่องมือที่เข้ามาช่วยปิดการขายได้ง่ายขึ้น อาทิ AI หรือ Chatbot เพื่อประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ปัจจุบัน เทคโนโลยีตรงนี้มีพร้อมให้ใช้งาน อยากให้ทุกคนเปิดใจและทำความรู้จัก เพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง

คุณสุมลกล่าวว่า เมื่ออีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวตาม ขั้นแรกผู้ประกอบการจึงควรต้องเตรียมข้อมูลองค์กรบนโลกออนไลน์ให้พร้อม อาทิ ชื่อร้าน ชื่อบริษัท ลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการ และเวลาเปิด-ปิด เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจธุรกิจได้อย่างชัดเจน ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการสามารถใช้ Google My Business เพื่อสร้างโปรไฟล์ธุรกิจของตัวเองได้ โดยจะมีการเชื่อมโยงไปที่ Google Search และ Maps เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ ในประเด็นของการเก็บข้อมูลนั้น การรวบรวม Data จะไม่ใช่แค่เก็บเดโมกราฟิก แต่จะต้องเก็บไปถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น ความชอบ เหตุการณ์สำคัญในชีวิตต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ และยิงโฆษณาให้เข้าถึงลูกค้าได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น

ด้านคุณธนา กล่าวว่า LINE BK เน้นออกแบบประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชันให้ถูกใจและเหมาะสมกับพฤติกรรมของลูกค้า โดยกุญแจสำคัญคือการทำทุกอย่างให้ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว อาทิ ในปัจจุบันเราต้องโอนเงินผ่านโมบายล์แบงกิ้ง เซฟสลิป แล้วกลับมาส่ง Line ให้เพื่อนอีกที ซึ่งคุณธนามองว่า เราสามารถรวมกิจกรรมเหล่านี้ไว้ที่เดียวเพื่อลดความยุ่งยากได้ ซึ่งจะดึงใจลูกค้าให้อยู่กับแพลตฟอร์มของเรา และนี่จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงในอนาคตแน่นอน

เอกชนจับมือภาครัฐ ช่วยผู้ประกอบการไทยสู้ศึกอีคอมเมิร์ซกับต่างชาติ

คุณปฐมกล่าวว่า เรื่องของ Data เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนัก เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ในการช็อปปิ้งผ่านมาร์เก็ตเพลสเบอร์ต้น ๆ อย่าง Lazada หรือ Shopee เราจะเห็นได้เลยว่า 70% ของสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มเหล่านี้มาจากประเทศจีน แต่หากสำรวจข้อมูลที่ลึกกว่านั้นจะเห็นว่า ในตัวเลข 70% นี้มีผู้ขายที่เป็นชาวจีนจริง ๆ เพียง 80,000 คน ส่วนผู้ขายที่เป็นคนไทยนั้น มีมากถึง 1 ล้านคน ประเด็นที่น่าตกใจคือ เมื่อคำนวณรายได้แล้ว พ่อค้าคนจีนจะมีรายได้ต่อหัวราว 800 บาท ส่วนพ่อค้าคนไทยจะได้เพียงแค่ 33 บาท ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่จีนรวบรวม Data การขายไว้ใหญ่มาก พวกเขาจึงรู้ว่าลูกค้าต้องการซื้ออะไร สินค้าชนิดใดจะขายดีในประเทศไหน ด้วยเหตุนี้ สมาคมการค้าดิจิทัลจึงอยู่ในระหว่างการการเจรจากับรัฐบาลเพื่อจัดตั้ง “eCommerce War Room” ให้ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้

ตรงนี้คุณสุมลกล่าวเสริมว่า Google เองก็มีโครงการที่จัดทำร่วมกับภาครัฐภายใต้ชื่อ “สะพานดิจิทัล” เพื่อสอนให้ผู้ประกอบการทั้งในระดับบุคคลและองค์กรรู้จักพื้นฐานการสร้างร้านค้าออนไลน์ ดู Data เป็น และรู้จักวิธีการใช้เครื่องมือในการสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อให้สามารถนำร้านเข้าสู่สังเวียนการค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“โควิด-19” ตัวเร่งให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัว

คุณธนากล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้คนต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตไปอย่างรวดเร็วและหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ การสั่งอาหารและการช็อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักและทำเป็น ปีนี้จึงถือเป็นการก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซไทยอย่างแท้จริง ส่วน LINE ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 30-40% ในชั่วข้ามคืน

ส่วนคุณปฐมมองว่า โควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดเทรนด์ที่ชัดเจน 3 อย่างด้วยกัน คือ 1. Digital Employee อาทิ การใช้ AI Chatbot ในการซื้อขายสินค้า 2. เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน และ 3. คือการที่วงการแพทย์ต้องปรับตัวมาใช้ AI และ Big Data กันมากขึ้น ส่วนในวงการอื่น ๆ นั้น คุณปฐมเสริมว่า กลุ่มธุรกิจสื่อและรีเทลจะต้องสร้างช่องทางการทำตลาดออนไลน์สำรองไว้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเช่นนี้ ส่วนเทคโนโลยีที่น่าจับตาและคิดว่ามาแรงในวงการแบงกิ้งอย่างแน่นอน คือ Decentralized Finance และ Blockchain

ด้านคุณสุมล กล่าวว่า โควิด-19 ได้ส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีที่จะมาแรงในปีหน้าคือ เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ และ Edtech หรือเทคโนโลยีด้านการศึกษา เพราะโรคระบาดบีบให้เด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์ และเทรนด์นี้มีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อไปในอนาคต

Data – Quantum Computing – Digital Marketing 3 เทรนด์เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต

คุณธนามองว่า ต่อไปการวิเคราะห์ Data จะเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องตระหนัก ยกตัวอย่างเช่น โจทย์ของ LINE BK คือการพยายามเข้าใจความเสี่ยงของลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อ ฉะนั้น จากเดิมที่ดูประวัติการเงินของลูกค้าจากเครดิตบูโร วันนี้ LINE เลือกใช้การพิจารณาข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า (Alternative Data) ที่เก็บเอาไว้มาเป็นตัวประกอบ ซึ่งถึงแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการเงินโดยตรง แต่พฤติกรรมเหล่านั้นก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่ โดย Line นำข้อมูลเหล่านี้มาปะติดปะต่อเพื่อหา Insight ใหม่ ๆ ในกลุ่มลูกค้าเดิม ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจ เพราะการเห็นข้อมูลเยอะ ก็จะยิ่งรู้จักผู้บริโภคลึกซึ้งขึ้น จึงสามารถสรุปได้ว่า Data จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงในอนาคตอย่างแน่นอน

ส่วนคุณปฐมฟันธงว่า เทคโนโลยีควอนตัม คอมพิวติ้ง (Quantum Computing) จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงในอนาคต และเป็นสิ่งที่อยากให้ทุกคนเริ่มศึกษา เพราะปัจจุบันเรามีชุดข้อมูลที่เก็บอยู่เป็นจำนวนมหาศาล ยิ่งนานวันก็ยิ่งสะสม ส่งผลให้ในท้ายที่สุดข้อมูลจะเยอะมากจนกระทั่ง AI คำนวIไม่ไหว fy’นั้น ควอนตัม คอมพิวติ้ง จะเข้ามามีบทบาทอย่างแน่นอนในอีกไม่ช้า

ผู้บริหาร Google Customer Solutions ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า Digital Marketing จะเป็นสิ่งที่มาแรงอย่างแน่นอน ซึ่งนักการตลาดจะต้องตามให้ทัน เพราะต่อไป Digital Marketing จะไม่ใช่เรื่องของการแค่เลือกสื่อโฆษณา แต่เป็นการเข้าใจพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของลูกค้า รู้จักตัวตน รู้จักไลฟ์สไตล์ของลูกค้าจาก Data ที่เก็บเอาไว้ เพื่อแนะนำสินค้าและบริการให้ถูกจุด ซึ่งผู้ประกอบการควรจะต้องศึกษาเอาไว้เพื่อต่อยอดธุรกิจ อันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับสู้ศึกออนไลน์ในปีหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top