รมว.พาณิชย์ เร่งแก้ปมขาดแคลนตู้ส่งออกสินค้า-คุมเข้มอัตราค่าระวางเรือ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ และหารือร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบ

นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องจากการประชุม กรอ.พาณิชย์ในปัญหานี้ จึงมาตรวจดูร่วมทุกฝ่าย เพื่อหาข้อสรุปและหาทางบริหารจัดการและดูเรื่องกฎระเบียบที่สามารถจัดการได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ สถานการณ์การขาดแคลนตู้สินค้า มาจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าระวางการขนส่งทางทะเลต่ำ ทำให้สายการเดินเรือหลายบริษัทได้ปิดตัวลง และมีการควบรวมกิจการ อีกทั้งสายการเดินเรือลดการให้บริการจากสถานการณ์โควิด-19 หลังจากหลายประเทศชะลอหรือยกเลิกการนำเข้า-ส่งออกชั่วคราว

ประกอบกับมีตู้สินค้าชะงักอยู่ที่จีนจำนวนมาก จากการเข้มงวดตรวจสอบสินค้า และอีกส่วนหนึ่งติดค้างอยู่ที่สหรัฐฯ เพราะโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ระยะเวลาหมุนเวียนของตู้สินค้าไปสหรัฐฯ เพิ่มจาก 7 วันเป็น 14 วัน และเทศกาลคริสมาสต์ ปีใหม่ ตรุษจีน ทำให้มีความต้องการตู้สินค้ามากขึ้นในการขนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ และยุโรป

ดังนั้น จึงส่งผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวาง โดยอัตราค่าระวาง (Freight) ค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) มีการปรับตัวในอัตราที่สูงขึ้น และการจองพื้นที่จัดสรรระวาง (ตู้สินค้า) มีความไม่แน่นอน อาจดำเนินการจองแล้วถูกยกเลิก เนื่องจากพื้นที่เรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ (Space Allocation)

สำหรับผลการหารือในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยในส่วนของค่าบริการภายในประเทศ (Local Charges) จะใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เข้าไปกำกับดูแล และขอให้คงอัตราค่าบริการภายในประเทศตามอัตราปี 61 อัตราค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ขอให้เป็นไปตามค่าธรรมเนียมตลาดโลก แต่ต้องเป็นธรรม และห้ามมีการยกเลิกการจองตู้สินค้า ส่วนเรื่องการผูกขาดการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจำกัดปริมาณตู้สินค้าที่มาจากสายการเดินเรือ ได้มอบให้ สขค. เข้าไปดูแล

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ 6 มาตรการ

  1. กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับการท่าเรือและภาคเอกชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาลู่ทางในการเร่งนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก
  2. เอาตู้เก่ามาซ่อมแซมในประเทศเพื่อใช้บรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือให้นำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่าให้สะดวกรวดเร็ว
  3. หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ เช่น ใช้เรือสินค้าทั่วไปเป็นต้น
  4. สนับสนุนช่วยเหลือ SME ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายย่อย ให้รวมตัวกันจองตู้ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
  5. เร่งดำเนินการหาลู่ทางให้เรือที่มีขนาด 400 เมตรสามารถเข้าท่าที่แหลมฉบังได้แทนที่จะอนุญาตเฉพาะเรือ 300 เมตร ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกการนำเข้าสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น
  6. ให้หามาตรการในการลดต้นทุนการนำเข้าตู้

ในส่วนของค่าบริการในประเทศ การท่าเรือฯ จะไปหาลู่ทางปรับลดเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และการนำเข้าตู้เปล่าหรือตู้เก่าเข้ามา ช่วยรับภาระได้ 6 เดือนถึงเดือนมิถุนายน 2564 การคิดค่าบริการที่สร้างภาระเกินสมควรกรมการค้าภายในจะใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามากำกับดูแล

“ตู้ขาดแคลนทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศเราประเทศเดียว ที่มาประชุมเพราะต้องการแก้ปัญหาในส่วนของประเทศไทย ขาดแคลนเพราะ 1. ตู้คอนเทนเนอร์ไปค้างอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯกับสหภาพยุโรปเยอะมากและส่งออกไม่ได้เพราะติดโควิด 2. จีนกับเวียดนามสามารถที่จะดึงตู้เปล่าอยู่ในประเทศได้เยอะมาก ทำให้ยิ่งขาดแคลน และโดยปริมาณตัวเลขการส่งออกน้ำเข้าของเรา นำเข้าแค่ 3,500,000 ตู้ต่อปีแต่ส่งถึง 5,000,000 ตู้ต่อปี ทำให้ขาดแคลนตู้ปีละ 1,500,000 ตู้ ”

นายจุรินทร์ กล่าว

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมฯ จะขอให้สายการเดินเรือทั้งหมด ส่งข้อมูลอัตราค่าระวางเรือมาที่กรมฯ ในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) เพื่อเตรียมนัดประชุมหารือกับตัวแทนของการท่าเรือฯ, สมาคมผู้ประกอบการผู้ขนส่งสินค้า และสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) อย่างเร็วที่สุด เพื่อหามาตรการให้ชิปปิ้งแสดงราคาค่าระวางเรือให้ผู้ส่งออก และ SMEs ได้รับทราบล่วงหน้า และเปรียบเทียบราคาได้ เพื่อให้สามารถคำนวณต้นทุนได้

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการของภาครัฐที่ออกมา เพียงแค่การทุเลาปัญหาให้กับผู้ส่งออกเท่านั้น พร้อมมองว่า ปีนี้ไทยน่าจะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 1.5 ล้านตู้ แต่ปัญหาของผู้ส่งออกไทยที่ใหญ่มากกว่านั้น คือ เงินบาทแข็งค่าที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วย เพราะมีผลกระทบอย่างมากต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศเป็นหลัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top