KBANK จ่อยึดผู้นำไพรเวทแบงก์กิ้งปี 64 หลังพอร์ตลงทุนลูกค้าปีนี้โตสวนโควิด

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจไพรเวทแบงก์กิ้งในปี 63 ยังสามารถเติบโตได้ โดยมีจำนวนลูกค้าราว 12,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการราว 8 แสนล้านบาท สินทรัพย์ลงทุนรวม 5.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 67% ขณะที่พอร์ตลงทุนที่แนะนำลูกค้าเติบโต 9% ฝ่าวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มั่นใจกลยุทธ์การลงทุนที่นำเสนอสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืนสม่ำเสมอในทุกสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ในปี 64 จะสามารถรั้งตำแหน่งผู้นำไพรเวทแบงกิ้งไทย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับลดลงแรงในช่วงต้นปี ก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จนหลาย ๆ ตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่าก่อนการแพร่ระบาด เช่น ตลาดหุ้นจีน A-Share ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นญี่ปุ่น ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารก็ยังเชื่อมั่นในกลยุทธ์การลงทุนด้วยหลักการกระจายความเสี่ยงทั้งใน Core และ Satellite ซึ่งหลากหลายกองทุนที่ธนาคารแนะนำสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น เช่น กองทุน K-GA กองทุน K-CCTV ที่เป็นการรวมหุ้นจีน A-shares กองทุน K-CHANGE ที่เป็นกองทุนรวมหุ้นที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก และ กองทุน K-HIT ที่รวมหุ้น 4 Mega trends เป็นต้น

กลยุทธ์การลงทุนของธนาคาร ยังคงแนะนำให้ลูกค้าถือพอร์ต K-Alpha ต่อ ควบคู่กับพอร์ต Aspiration ที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternatives) และเน้นการลงทุนระยะยาว โดยในปี 2563 นี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 9% (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ธ.ค.63)

ตลอดปีนี้ ธนาคารยังคงสานต่อกลยุทธ์ 3S ต่อเนื่อง โดย S แรกคือ Sustainability ผ่านการแนะนำการลงทุนด้วยเป้าหมายที่มีความยั่งยืน ทั้งการมองหาและริเริ่มการลงทุนที่สร้างผลกระทบในเชิงบวก (Positive Investment) ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม S ที่สอง คือ Sharing เพราะธนาคารเชื่อว่าบุคคลและสังคมต้องเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน ธนาคารจึงร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรสาธารณกุศล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุน และสร้างความกลมเกลียวให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างยั่งยืน และ S ที่สาม คือ New S-Curve โดยธนาคาร เปิดโอกาสต่อยอดความมั่งคั่งให้กับลูกค้า เช่น การลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตที่ต่างประเทศผ่านทางกองทุนรวม

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว(Family Wealth Planning Service) ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าของธนาคารในเชิงลึกและเปิดโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยในปี 2564 มีแผนที่จะเพิ่มบริการในเรื่องการช่วยจัดตั้งสำนักงานครอบครัว (Family Office) และงานด้านสาธารณกุศล (Philanthropy) รวมถึงการจัดกิจกรรมการลงทุนตามความชอบ (Passion Investment) เช่น การสะสมงานศิลปะ พระเครื่อง เป็นต้น

นอกจากนี้ บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service) ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากที่ได้พูดคุยกับลูกค้าที่กังวลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พบว่ากว่า 90% เป็นที่ดินที่ยังรอ และยังไม่พร้อมพัฒนา ซึ่งทำให้ลูกค้าต้องเสียภาษีในอัตราสูง ธนาคารฯ จึงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ Land Loan for Investment จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธนาคารได้ โดยปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 100 รายให้ความสนใจ โดยธนาคารอนุมัติวงเงินไปแล้วประมาณ 9,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 5,000 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top