ครม.รับทราบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ 1-3% ยืดหยุ่น-เน้นเสถียรภาพ-รวมปัจจัยโควิด

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบเป้าหมายนโยบายการเงินปี 64 ที่กระทรวงคลังเสนอเข้ามา กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 1-3% โดยเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย สอดคล้องศักยภาพในปัจจุบัน รวมถึงเกี่ยวข้องนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่น และมีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพ ซึ่งได้มีการนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องการแพร่ระบาดโควิด-19 เข้ามาด้วยแล้ว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ เดือน ก.ย.63 เท่ากับ -0.9% โดยคาดการณ์ในปี 64 จะอยู่ในระดับ 1%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.ได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 โดยสรุปได้ ดังนี้

  1. กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคา สำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2564
  2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กนง. ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2564 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
    • 2.1 หลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น บริบทของเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้าเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน ได้แก่
      • (1) เศรษฐกิจโลกและไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าตามการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เผชิญข้อจำกัดมากขึ้นจากมาตรการควบคุมการระบาด
      • (2) ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
      • (3) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ E-Commerce และการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (Automation) หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
        • ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะได้มีความร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้มีความสอดประสานกันมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวและเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง และยั่งยืนในระยะยาว
        • ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น เอื้อให้ กนง.สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินของไทย ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยในปัจจุบัน กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
        • ในการตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้ง กนง. จะพิจารณาความสำคัญของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละทางเลือก (Policy Trade-off) ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงพร้อมใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในลักษณะผสมผสาน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
    • 2.2 เป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2564 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ เป้าหมายแบบช่วงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
      • ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายระยะปานกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริง
    • 2.3 การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จะหารือร่วมกันเป็นประจำ และ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน
      • กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ
        • (1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา
        • (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป
        • (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต
    • 2.4 การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไป จะผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง
      • (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว
      • (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
      • (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
    • 2.5 การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top