ก.ล.ต.เผยปี 63 หุ้น IPO ระดมทุน 1.59 แสนลบ.สูงกว่าปีก่อน,ตราสารหนี้ชะลอ

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุผ่านบทความเรื่อง “ตลาดทุนไทยแข็งแกร่งสู้ภัย COVID-19 ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจระดมทุนเสริมแกร่ง” ว่า การระดมทุนผ่านการเสนอขายหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมายังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างรวมถึงตลาดทุนของไทย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้ลงทุนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินพร้อมที่จะลงทุน และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจสามารถพึ่งพาตลาดทุนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเพิ่มสภาพคล่องและความแข็งแกร่งให้ธุรกิจในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ได้

หากพิจารณาการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในปี 2563 จนถึง ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 พบว่ามีบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO แล้ว จำนวน 26 บริษัท มูลค่าการเสนอขายรวมสูงถึง 1.59 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 49.6% เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งปี ที่มีมูลค่าการเสนอขายรวม 1.06 แสนล้านบาท และยังมีอีก 22 บริษัทที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคำขออนุญาตฯ หรือได้รับอนุญาตแล้วแต่ยังไม่ได้เสนอขาย IPO

เมื่อพิจารณาจากจำนวนบริษัทที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้น IPO ต่อ ก.ล.ต. ในปี 2563 ก็พบว่าเติบโตขึ้น โดยมีบริษัทยื่นคำขออนุญาตฯ จำนวน 35 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563) ซึ่งมากกว่าปี 2562 ที่มีบริษัทยื่นคำขออนุญาตฯ จำนวน 29 บริษัท

นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO ในปี 2563 พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ บริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการบริการขนส่งสินค้าระดมทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความสนใจในการดูแลสุขภาพ และมีความคุ้นชินกับการเลือกซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในสินค้าหรือบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ในด้านการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่เสนอขายในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 มีการระดมทุนมูลค่า 1.22 ล้านล้านบาท จากผู้ออกตราสารหนี้ทั้งสิ้น 281 ราย ชะลอตัวลงจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท โดยกว่า 92% หรือ 1.12 ล้านล้านบาท เป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุน (investment grade) ส่วนที่เหลืออีก 9.22 หมื่นล้านบาท เป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับลงทุน (non-investment grade) และตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated) โดยภาคธุรกิจที่มีการระดมทุนด้วยตราสารหนี้มากที่สุดในปี 2563 ได้แก่ ภาคธุรกิจการเงิน 3.18 แสนล้านบาท (26%) รองลงมา คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ 1.82 แสนล้านบาท (15%) และธุรกิจพลังงาน 1.39 แสนล้านบาท (11%)

ทั้งนี้สาเหตุหลักของการชะลอตัวในภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ เกิดจากความผันผวนที่สูงขึ้นในตลาดการเงิน ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนต้องการถือครองเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องคล้ายเงินสด มากกว่าการลงทุนในหุ้นกู้

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน เช่น ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 – 2563 มีการออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมูลค่ารวม 1.27 แสนล้านบาท ซึ่งในปี 2563 มีการออกและเสนอขาย 8.64 หมื่นล้านบาท เติบโตถึง 187% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีการออกและเสนอขาย 3 หมื่นล้านบาท

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายประเทศทั่วโลกออก “ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังก็ได้มีการออก Sustainability Bond 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ COVID-19 และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ลงทุน นอกจากนี้ยังมีหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนที่เสนอขายในปี 2563 เช่น Green Bond ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่นำเงินไปใช้เป็นเงินทุนในการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เกษตรกร และ Social Bond ของการเคหะแห่งชาติที่นำเงินไปใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีนโยบายส่งเสริมการออกและเสนอขาย รวมถึงการลงทุนตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ออก Green Bond, Social Bond และ Sustainability Bond ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และมีการจัดอบรมให้ความรู้ในเชิงลึกแก่ผู้ออกตราสารหนี้และผู้จัดจำหน่าย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี รวมถึงประสานงานกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และกองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เรื่องการสนับสนุนค่าประเมินจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก (external reviewer) ทำให้ผู้ออกตราสารและผู้ลงทุนให้ความสนใจและตื่นตัวในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอย่างมาก และคาดว่ากระแสในเรื่องนี้จะยังคงเติบโตต่อไปอีกมาก

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีแนวคิดที่จะออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนประเภทใหม่ คือ Sustainability-linked Bond เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนสำหรับกิจการที่คำนึงถึงความยั่งยืนและผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้ากับการดำเนินธุรกิจ

ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจให้ใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดทุนให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top