คนไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย เป็นไกด์ทัวร์เกาหลีใต้

กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าพบผู้ป่วยคนไทยที่ยืนยันผลการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายไทยวัย 25 ปี ประกอบอาชีพไกด์นำเที่ยวเกาหลีใต้ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 24 ก.พ.63 ด้วยอาการไข้ ไอ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ

ขณะนี้ได้รับตัวไว้ในสถาบันบำราศนราดูร ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ 2 คน ส่วนเพื่อนร่วมทัวร์ และผู้สัมผัสบนเครื่องบินอยู่ในระหว่างการติดตาม ทั้งนี้ ได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว ทำให้วันนี้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมในไทยเพิ่มเป็น 41 คน

“ผู้ป่วยใหม่ที่พบ เป็นชายไทย อายุ 25 ปี ทำหน้าที่นำเที่ยวที่ประเทศเกาหลีใต้ ตอนนี้รักษาตัวอยู่ในสถาบันบำราศฯ และเราติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดได้แล้ว”

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ป่วยที่หายดีสามารถกลับบ้านได้เพิ่มอีก 1 ราย เป็นชาวจีนอายุ 30 ปี ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.เอกชน ก็รักษาหายดีและกลับบ้านได้แล้วเช่นกัน ทำให้ล่าสุดมียอดผู้ที่รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 28 ราย ยังอยู่ใน รพ.อีก 13 ราย

ส่วนผู้ป่วยหนัก 2 ราย ที่นอนรักษาตัวอยู่ในสถาบันบำราศฯ ซึ่งรายแรกมีอาการของวัณโรคร่วมด้วย ส่วนอีกรายเป็นไข้เลือดออกร่วมด้วยนั้น ขณะนี้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการของทั้ง 2 ราย ออกมาเป็นลบ ไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระบบทางเดินหายใจแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในห้องความดันลบ และยังใช้เครื่องช่วยหายใจ อาการโดยรวมทรงตัว อยู่ในระยะการพักฟื้นให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น โดยมีทีมแพทย์ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-27 ก.พ.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 2,437 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 84 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 2,353 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,446 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 991 ราย

ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเคสปู่-ย่า-หลาน ขณะนี้ผลตรวจที่เหลืออีก 4 คน ออกมาแล้วเป็นลบ คือไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 จากที่เมื่อวานนี้ผลตรวจในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด 97 คน ออกมาเป็นลบเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ทั้งหมด 101 คนจะยังต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการต่อเนื่องอีก 14 วัน

โดยวันนี้ กระทรวงสารณสุขได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อการพัฒนาวัคซีนไวรัสโควิด-19 ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไบโอเน็ตไทย และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยจะร่วมกันแชร์ความรู้ในการสร้างวัคซีนเพื่อต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ และจะนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้ประเทศไทยมีวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าว

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ถือเป็นบททดสอบสำคัญในการตรวจสอบความพร้อมของวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย และถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้วัคซีนในการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 โดยจะมีการร่วมมือกับประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนด้วย คาดว่าจะประสบผลสำเร็จ และสามารถนำวัคซีนมาใช้ในอีกราว 1 ปีครึ่ง- 2 ปีนับจากนี้

“เรามีผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านวัคซีน เมื่อมีโรคอุบัติใหม่ ก็เป็นโจทย์ใหญ่ ที่จะรวมบรวมความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ ร่วมกันวิจัยและพัฒนาให้ได้วัคซีนในการป้องกันโรค” นพ.นครระบุ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ย้ำคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่สำคัญของผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่คัดกรองในเบื้องต้นแล้วไม่มีอาการว่า ขอความร่วมมือให้สังเกตอาการอยู่ที่บ้านให้ครบ 14 วัน แต่หากมีภารกิจสำคัญจะต้องทำ ขอให้ใช้วิจารณญานให้มากในการจะออกไปสู่ที่ชุมชน

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการแนะนำประชาชนที่จะเข้ามารับการตรวจไวรัสโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไอ มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก และมีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีรายงานการระบาด ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ตามนี้ก็จะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลตามขั้นตอน

ส่วนรายที่กลับจากต่างประเทศเหมือนกัน แต่ยังไม่มีอาการ กรณีนี้ไม่แนะนำให้ไปตรวจ เพราะการตรวจในช่วงที่ยังไม่มีอาการก็จะไม่ทราบผลว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ซึ่งการตรวจแล้วไม่เจอเชื้อในเวลานั้นก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ได้เป็น เพราะโรคนี้จะต้องเฝ้าระวัง 14 วัน เป็นระยะเวลาที่นานสุดของระยะฟักตัว

“ตอนนี้มีกรณีที่บางบริษัท มีนโยบายให้พนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศต้องไปตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการแล้วเอาผลแล็ปมายืนยัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำ”

นพ.โสภณระบุ

ทั้งนี้ จากข้อมูลระบาดวิทยาทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศพบว่า ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่ PPE ตามมาตรฐาน ดังนั้นเรื่องมาตรการการเฝ้าระวังและคำแนะนำในการปฏิบัติตัว

จึงต้องมีการกักกันตนเอง (Self-Quarantine at home) ตามมาตรฐานการป้องกันโรค โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ

กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีความจำเป็นต้อง แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการ (ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558) ได้แก่ 1. ผู้เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ PUI ซึ่งกลุ่มนี้มีทั้งอาการและประวัติเสี่ยง ต้องแยกกักอย่างเข้มงวด 2. ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อสูง (High Risk Contact) กลุ่มนี้ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อสูงจากผู้ป่วย หรือผู้สงสัยว่าป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสในครัวเรือน เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมทำงาน ร่วมยานพาหนะ ที่มีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยตามนิยามของกรมควบคุมโรค รวมทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่ PPE ตามมาตรฐานในขณะที่ให้การดูแลผู้ป่วยบุคคลดังกล่าวในกลุ่มนี้ มีความจำเป็นต้องกักกันตนเอง(Self-Quarantine at home) อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น งดกิจกรรมทางสังคม งดไปทำงาน งดไปโรงเรียนเรียน แยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น

กลุ่มที่ 2 กลุ่มไม่สัมผัสกับผู้ป่วยแต่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรค แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วย ขอให้ปฏิบัติตัว ดังนี้ เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ขอความร่วมมือลดกิจกรรมทางสังคม (Social Distancing) ให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้าน/ที่พัก เฝ้าระวังตนเองเป็นเวลา 14 วัน หลีกเลี่ยงการไปในที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่หนาแน่นโดยไม่จำเป็น แต่หากมีอาการ ไข้ไอ เจ็บคอ ต้องพบแพทย์ทันที

กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากไปในที่ที่มีคนอยู่มาก

ขอทำความเข้าใจกับประชาชน ว่า ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ทุกคนไม่ใช่ผู้ป่วย หรือผู้ที่ถูกรับตัวเข้าไว้สังเกตอาการก็ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทุกคน ขออย่ารังเกียจ อย่าตีตรา อย่าล้อเลียนผู้ป่วย ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ขอให้เห็นใจ ส่งกำลังใจให้หายป่วย ทุกคนที่ป่วยและเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ในระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างและสังคมมีโอกาสน้อย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่พบถือว่าเป็นกรณีศึกษาให้ประชาชนตระหนักว่าการปกข้อมูลเป็นผลเสียกับตัวผู้ป่วยเอง สังคมรอบข้าง และประเทศชาติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top