นายกฯ สั่งใช้มาตรการเร่งด่วนบรรเทาผลกระทบโควิด-19

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการมาตรการระยะเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วย

ในด้านการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพ

1. ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และหากมีความจำเป็นให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการกำหนดมาตรการเป็นการภายในต่อไป

2. ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ระงับหรือเลื่อนการเดินทางไปศึกษา ดูงาน อบรมหลักสูตร หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และประเทศเฝ้าระวัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยในส่วนของการดูงานหรืออบรมหลักสูตรขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณเป็นการดูงาน หรือจัดอบรมหลักสูตรภายในประเทศแทนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีผลระทบต่อเอกชนคู่สัญญาน้อยที่สุด

3. ให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เดินทางกลับมาจาก หรือเดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่าน (Transit/Tansfer) ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และจำเป็นต้องสังเกตอาการ ปฏิบัติงานภายในที่พัก 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จัดทำหลักเกณฑ์สำหรับให้ข้าราชการปฏิบัติงานภายในที่พัก โดยให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เดินทางกลับมาจาก หรือ เดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่านประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการคัดกรองอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด ในกรณีที่มีความจำเป็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการขนส่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวกลับภูมิลำเนาหรือไปยังสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม รวมถึงการกำกับดูแล การกักกันตนเอง ณ ที่พักอาศัย โดยให้มีการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างชุมชน จิตอาสาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และสถานพยาบาลในพื้นที่ ในการติดตาม เฝ้าระวังตรวจสอบ และป้องกันอย่างใกล้ชิด

4. จัดให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกส่วนราชการ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติ รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงทุกกลุ่ม เพื่อสร้างการรับรู้ ตระหนัก และขอความร่มมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะขั้นตอนการเฝ้าระวังละการป้องกัน

5. มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันพิจารณาปริมาณความต้องการของสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย และน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเจลฆ่าเชื้อ และจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการดังกล่าวในแต่ละช่วงเวลา โดยควรจัดลำดับความสำคัญในการกระจายสินค้าจำเป็นตามระดับความเสี่ยงของบุคคล หน่วยงาน และสถานที่ เช่นสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และประชาชนทั่วไป

6. มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการป้องกันการกักตุน และควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย และน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเจลฆ่าเชื้อ อย่างเคร่งครัด โดยครอบคลุมถึงช่องทางการขายสินค้าออนไลน์

7. มอบหมายให้ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งผู้โดยสารและท่ารถ อย่างเคร่งครัด

8. ให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน ติดตามและดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และ ประเทศเฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างใกล้ชิด

9. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม จัดเตรียมสถานที่/พื้นที่สำหรับสังเกตอาการในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาด หรือพาหะนำโรคตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

10. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้มีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับดำเนินการอย่างเพียงพอ

11. ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์และข้อมูลต่างๆ รวมถึงร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา

12. ให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม และจัดให้มีสวัสดิการพิเศษเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และครอบครัว

13. ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อร้องรับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หากมีความจำเป็น

14. ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นการดำเนินการของสถานประกอบการค้าตามปกติ ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่เงินกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ

ด้านการบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง มอบหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับรมว.คลัง จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาโดยเร็ว ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งให้ข้อมูลและสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อให้เกิดเอกภาพและสร้างความมั่นใจผ่านศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะได้มีการจัดตั้งขึ้น ในการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้ มาตรการทางภาษี มาตรการด้านสินเชื่อและพักชำระหนี้มาตรการด้านงบประมาณ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน มาตรการการจ้างงานและพัฒนาทักษะ และมาตรการด้านสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นในชุมชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top