ครม.ไฟเขียวงบกลาง 225 ลบ.เร่งผลิตหน้ากากผ้าแจกประชาชน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางวงเงิน 225 ล้านบาท ให้กับโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อนำไปผลิตหน้ากากทางเลือกหรือหน้ากากผ้า จำนวน 50 ล้านชิ้น คิดเป็นต้นทุนชิ้นละ 4.50 บาท

โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบและเร่งดำเนินการมอบหมายให้ประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่อสม.แล้วเป็นผู้ผลิต ซึ่งจะทำให้หน้ากากผ้าที่ผลิตออกมาจะมีคุณสมบัติที่เพียงพอกับการป้องกันโรคและเร่งแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้นำผลประชุมร่วมกับโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเมื่อวานนี้ รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 4 ประเด็น ได้แก่

1. การผลิต ขณะนี้มีโรงงานที่ผลิตทั่วประเทศทั้งหมด 11 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 36 ล้านชิ้น/เดือน แต่การจะเพิ่มกำลังการผลิตนั้น ยังติดในเรื่องของปัญหาวัตถุดิบ คือ ฟิลเตอร์ ที่ต้องนำเข้าจากจีนและไต้หวัน และสถานการณ์ใน 2 แหล่งดังกล่าวก็มีปัญหาเรื่องโรคระบาดทำให้การส่งออกทำได้ยากขึ้น และได้หาแหล่งวัตถุดิบใหม่คือ อินโดนีเซีย แต่ทางอินโดฯ ขอชะลอส่งมอบและขึ้นราคา จึงได้มอบหมายให้ทางทูตพาณิชย์ช่วยหาแหล่งวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รมว.พาณิชย์ได้เสนอขออนุมัติจากครม.ในการส่งเสริมศักยภาพกรณีขยายกำลังการผลิต นำเข้าตัวฟิลเตอร์เข้ามา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลังไปพิจารณาในเรื่องของภาษี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุนผลิตหน้ากากได้อย่างไรบ้าง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า แม้ต้นทุนราคาจะเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังตั้งใจที่จะคุมราคาให้อยู่ที่ 2.50 บาท จึงต้องไปหามาตรการในการช่วยจัดเงินงบประมาณก้อนหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุน เพื่อให้ยังคงขายในราคาควบคุมต่อไปได้

2. การกระจายหน้ากากอนามัย จะมีการจัดตั้งศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย โดยมีผู้แทนจากกรมการค้าภายในกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันบริหารจัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับหน่วยงานและสถานพยาบาลของทุกหน่วย ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้อย่างยิ่ง โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการกระจายให้กับกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว 350,000 ชิ้นต่อวัน รวมแล้ว 3,450,000 ชิ้น เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัด ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนยังมีปัญหาประสบความขาดแคลน จึงขอให้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการทบทวนตัวเลขโดยหารือกับหน่วยงานสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อนำตัวเลขมาบริหารจัดการร่วมกันในศูนย์การกระจายหน้ากากอนามัยให้เป็นที่ยุติต่อไป

โดยจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำทั้ง 11 โรงงานเพื่อตรวจสอบกำลังการผลิต แจ้งบัญชีกระจายสินค้ามายังศูนย์กระจายหน้ากากอนามัยทุกวัน

3. การส่งออก จากนี้ไปการส่งออกเกิน 1 ชิ้นต้องขออนุญาต จากเดิมที่กำหนดไว้ 500 ชิ้นจะต้องขออนุญาต โดยยกเว้นกรณีโรงงานที่ไม่ได้ขายในประเทศอยู่แล้ว เช่น สเปคสูงๆ จะอนุญาตได้

4. การดำเนินคดีต่อผู้ทำผิดกฎหมาย โดยผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินสมควร ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 31 รายและไม่ติดป้ายแสดงราคา 20 ราย รวมทั้งสิ้น 51 คดี หรือแบ่งเป็นการจับกุมหน้าร้าน 46 รายและทาง online จำนวน 5 ราย กรณีการขายเกินราคามีโทษจำคุก 7 ปีหรือ ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งหมดนี้ ได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเพื่อนำส่งอัยการต่อไป

สำหรับการจัดการกับคดีออนไลน์นั้น กระทรวงพาณิชน์จะขอความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อทำการหา IP Address รวมทั้งประสานกับแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top