นักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้อง ‘คลัง-แบงก์ชาติ’ เหลือกระสุนเพียงพอปลุกเศรษฐกิจไทย กู้วิกฤตโควิด-19

เป็นที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของรัฐบาล ล่าสุด (6 มี.ค.) คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) คลอดมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและผู้ประกอบการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ประกอบด้วย ผู้ประกอบการจะมีมาตรการการเงิน และมาตรการภาษี ขณะที่ความช่วยเหลือที่ให้กับประชาชนจะมีการแจกเงินใช้จ่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ 2 พันบาท รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น รวมทั้งมาตรการด้านตลาดทุน

แม้ว่ารัฐบาลเริ่มทยอยใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และรอลุ้นกับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ดูแลฝั่งนโยบายการเงินว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจไทยหลายฝ่ายกังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ก็มีหลายคำถามเกิดขึ้นเช่นกันว่ายามเศรษฐกิจชะลอเช่นนี้ นโยบายการคลังและการเงินจะเหลือกระสุนเพียงพอหรือไม่หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อมากไปกว่าที่คาดไว้

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของประเทศยังมีพื้นที่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ โดยนโยบายการเงิน คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 มี.ค.นี้น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1% เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลดดอกเบี้ยอาจมีส่วนช่วยได้บ้าง แต่มองว่าอาจไม่ได้ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ เพราะประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่มองว่านโยบายการคลังจะสร้างผลเชิงบวกให้กับระบบเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ เช่น รัฐบาลเป็นผู้นำในการใช้จ่าย อันดับสองใช้มาตรการภาษี และอันดับสามให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ที่ประสบปัญหาหรือมีรายได้น้อย ซึ่งไม่ได้เป็นภาระกับฐานะการคลัง เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ระดับ 41% ยังต่ำกว่าเพดานกรอบวินัยการคลังที่อยู่ระดับ 60% และการขาดดุลของไทยที่ผ่านมายังไม่สูงอยู่ระดับ 2-3% ของ GDP ประเทศ

“วันนี้นโยบายการคลังมีข่องว่างที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เงินลงทุนภาครัฐ เช่น เงินลงทุน ,ประกันราคาสินค้าเกษตร หรือแจกเงินให้กับประชาชนเพิ่มกำลังซื้อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว” นางสาวกิริฎา กล่าว

นางสาวกิริฎา กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะยากลำบาก จากกระทบไวรัสโควิด-19 ลุกลามไปหลายภาคส่วนเศรษฐกิจ ฉุดให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกโดนกระทบค่อนข้างรุนแรง มีโอกาสถึงขั้นติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าหากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ ก็มีโอกาสเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ไม่เกิน 2% เนื่องจากประเมินว่าภาคส่งออกของไทยปีนี้จะติดลบ 1-2% ซึ่งปัจจุบันรายได้จากภาคส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 65% ของ GDP ประเทศ ส่วนผลกระทบเกิดกับภาคท่องเที่ยวไทยคาดว่าทั้งปีอาจจะหดตัว 8-10% ซึ่งปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวไทยคิดเป็นสัดส่วน 12% ของ GDP ประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าฤดูเพาะปลูกข้าวนาปีเริ่มเก็บเกี่ยวได้ช่วง พ.ค.แต่หากปัญหาภัยแล้งลากยาวเกินกว่านั้นก็จะยิ่งสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคกำลังซื้อ เพราะเกษตรกรเป็นฐานผู้บริโภคใหญ่ของประเทศจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน

“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกเหนื่อยแน่นอน GDP ไตรมาสแรกมีโอกาสสูงมากที่จะติดลบ แต่ไตรมาส 2 ต้องมาดูกันอีกทีว่าจะฟื้นได้หรือไม่ ตอนนี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่าเห็นเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเป็นปกติอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่วันนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกำลังเติบโตช้า แนวโน้มดอกเบี้ยทรงตัวระดับต่ำต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น อาจต้องระมัดระวัง Search for Yield นักลงทุนโยกเงินเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นภายใต้ยุคดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้” นางสาวกิริฎา กล่าว

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังมีกระสุนเพียงพอที่จะดูแลสถานการณ์ช่วงนี้ที่กำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะนโยบายการคลังมีช่องว่างค่อนข้างมากหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น สัดส่วนหนี้สาธารณะ 41% ยังอยู่ในกรอบวินัยทางการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศสูง

อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย.63 ธนาคารโลกเตรียมปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 จากเดิมคาดโต 2.7% เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 1 ต่อเนื่องไตรมาส 2 เห็นผลกระทบชัดเจนจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คาดว่าไตรมาส 1/63 มีโอกาสหดตัวมากกว่า 50% และอุตสาหกรรมส่งออกก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 65% ของ GDP ประเทศ เพราะจีนเป็นประเทศหลักที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมทั่วโลกและภูมิภาคเอเชีย

“คิดว่าช่วงนี้ไทยควรใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือกับภาวะการชะลอตัวจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 เพราะมองว่าช่วยให้เงินเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้นโยบายการเงิน ซึ่งมองว่าไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และทรงตัวต่ำมานานแล้ว ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่ระยะสั้นการใช้นโยบายการคลังจะมีประสิทธิภาพกับเศรษฐกิจมากที่สุด”

ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สนับสนุนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้เพื่อเยียวยาผลกระทบไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการเป็นแพ็คเกจใช้เงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพราะปัจจุบันธุรกิจเอกชนหลายภาคส่วนต้องชะงัก ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นผู้นำในการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค

นอกจากนี้ เห็นด้วยกับกรณีกระทรวงการคลังมีแนวทางปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มาใกล้เคียงกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) คาดว่ามาตรการนี้อาจเข้ามาใช้ชั่วคราวเพื่อประคับประคองตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ หลังจากบอบช้ำอย่างหนักจากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อผลกระทบไวรัสโควิด-19 โดยวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้ตลาดหุ้นไทยมีเม็ดเงินลงทุนระยะยาวเข้ามาสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม หากปรับเกณฑ์ SSF เพิ่มเงื่อนไขวงเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยชัดเจนเหมือนกับ LTF เชื่อว่ามีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยได้ในช่วงสั้น

สำหรับนโยบายการเงินนั้น เชื่อว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในการประชุมวันที่ 25 มี.ค. แต่ไม่ถึงขั้นปรับลดเท่ากับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อนหน้านี้ลดลงไป 0.50% เพราะเชื่อว่า กนง.คงอยากให้เก็บกระสุนเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถรองรับกับการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบได้เหมือนกับเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป

แม้ว่าแนวโน้ม GDP ในไตรมาส 1/63 อาจมีความเสี่ยงถึงขั้นติดลบ แต่อยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้เร่งอัดเงินเข้าสู่ระบบและเกิดผลได้ไม่เกินสิ้นเดือน มิ.ย.63 ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยผลักดันความเชื่อมั่นนักลงทุนให้ดีขึ้น เพื่อให้ GDP ในไตรมาส 2/63 กลับมาเติบโตเป็นบวกได้เล็กน้อย

“ภาพรวมตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ลุกลามไปมากกว่าปัจจุบัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลเกิดผลได้ทันในไตรมาส 2/63 มีความเป็นไปได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดรอบนี้ไปแล้ว” นายไพบูลย์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top