คนไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 5 ราย ลักษณะติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า วันนี้ สธ.พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 5 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อในลักษณะกลุ่มก้อน จากการรับประทานอาหาร และดื่มสังสรรค์ร่วมกัน

กลุ่มที่ 1 มี 2 คน รายที่ 1 เป็นหญิงอายุ 36 ปี (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 71) และรายที่ 2 เป็นชายอายุ 37 ปี (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 72) ทั้ง 2 รายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ป่วย 11 ราย (ที่ได้แถลงข่าวไปเมื่อวานนี้ 12 มี.ค.63)

กลุ่มที่ 2 มี 3 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 57 (หญิงไทยอายุ 27 ปีกลับจากเกาหลีใต้ ปัจจุบันรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี) โดยรายที่ 1 ชายไทยอายุ 19 ปี เป็นน้องชาย สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 57 เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 7 มี.ค.63 ด้วยอาการไข้ มีน้ำมูก มีเสมหะ เข้ารับการตรวจที่เอกชนเมื่อวันที่ 9 มี.ค.63 ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 73) รายที่ 2 เป็นหญิงไทยอายุ 29 ปี เป็นเพื่อนกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 57 เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 7 มี.ค.63 ด้วยอาการไข้ ไอแห้ง ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนเมื่อวันที่ 8 มี.ค.63 ให้ประวัติว่า ก่อนป่วย (4 มี.ค.63) ไปเที่ยวสถานบันเทิงกับเพื่อนชายและเพื่อนอีก 13 คน (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 74) รายที่ 3 เป็นชายไทยอายุ 37 ปี เป็นเพื่อนผู้ป่วยยืนยันรายที่ 74 เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 9 มี.ค.63 เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐเมื่อวันที่ 10 มี.ค.63 ด้วยอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 75) ให้ประวัติร่วมสังสรรค์ที่สถานบันเทิงกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 74 ขณะนี้กำลังรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของเพื่อนเที่ยวกลุ่มนี้อีก 8 คน

“สังเกตว่าตอนนี้ประเทศไทยจะเริ่มพบผู้ป่วยในลักษณะกลุ่มก้อน ผู้ป่วยเหล่านี้สัมพันธ์กับผู้มาจากประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีประวัติสัมพันธ์กับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ไปเที่ยวด้วยกัน และมีพฤติกรรมไม่เหมาะ เช่น กินอาหารร่วมกัน ใช้แก้วน้ำร่วมกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นจึงควรต้องปรับพฤติกรรมเหล่านี้” ปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุ

ดังนั้น ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมในประเทศอยู่ที่ 75 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 39 ราย กลับบ้านได้แล้ว 35 ราย และเสียชีวิต 1 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง (PUI) ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-12 มี.ค.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,496 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 226 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 5,270 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 3,992 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,504 ราย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ระบุว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ระดับ 3 เนื่องจากยังไม่พบเข้าเกณฑ์ชี้วัดสำคัญ ประกอบด้วย 1. การระบาดติดต่อในวงกว้างหลายจังหวัด หลายอำเภอ หลายตำบล 2. การระบาดติดต่อกันเกิน 4 ทอดคน ซึ่งส่งผลให้การติดตามโรคทำได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังเป็นการติดต่อกันเพียง 2 ทอด และ 3. การระบาดติดต่อกันอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่นหลายประเทศในยุโรปขณะนี้

พร้อมกับขอร้องประชาชนให้ร่วมกันช่วยกันเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง โดยมีข้อเสนอดังนี้

1.จัดตั้งกรรมการระดับชุมชน เพื่อช่วยเฝ้าระวังโรคร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น ในคอนโดมิเนียม ให้นิติบุคคลตั้งกรรมการเพื่อทำหน้าที่ดูแลลูกบ้านในการตรวจวัดอุณหภูมิ วัดไข้ ผู้ที่เข้า-ออกอาคารทุกวัน

2.ขอร้องประชาชนยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งขณะนี้พบว่ามีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศในโลกแล้ว

3.ขอให้เลิกการจัดงานที่มีการชุมนุมมากกว่า 100 คน

4.การใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าถือว่าเพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไป

5.หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

6.หากเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง ขอให้มีวินัยอย่างเคร่งครัดในการแยกกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน

“ขณะนี้มีประเทศที่เอาอยู่ คือ ยอดผู้ติดเชื้อไม่เพิ่ม และไม่ตายมาก เช่น ไทย ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ รวมถึงมาเก๊า และฮ่องกง ที่เคสใหม่น้อยลง อยากให้มีความหวังว่าเราไม่เลวร้าย เพียงแต่เราไม่สามารถจัดการวินัยคนในชาติได้…ขอให้ยืดไปสัก 1 ปี ตอนนี้เรายืดมาได้เข้าเดือนที่ 3 แล้ว อย่าตื่นตระหนก” นพ.พรเทพ ระบุ

อย่างไรก็ดี หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของบางประเทศมีแนวโน้มลดลงนั้น มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการวิชาการ จะเสนอให้ถอดบางประเทศออกจากบัญชีประเทศที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย โดยจะใช้เกณฑ์การพิจารณจาก 1.จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 2.จำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในแต่ละวัน และ 3.แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยในอนาคต ซึ่งหากพบว่าทั้งหมดมีแนวโน้มลดลง คณะกรรมการวิชาการ จะเสนอให้ระดับนโยบายได้พิจารณาต่อไป

“คณะกรรมการเราเป็นกรรมการอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ เราดูอย่างเดียวว่าทำแล้วประชาชนสุขภาพดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง แต่การเสนอความเห็นของเราหากจะไปกระทบกับด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไรนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปพิจารณาว่าจะชะลอ เพิ่มหรือลดอย่างไร แต่หลักการเราดู 3 ตัว 1.จำนวนคนไข้ทั้งหมด 2.จำนวนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน 3.ดูแนวโน้ม 2 ตัวนี้ ถ้ามีแนวโน้มลดลง จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ จะถอดลงเป็นลำดับ เช่น ประเทศที่เคยอยู่ใน list เขตติดโรคติดต่ออันตราย ก็จะถอดลงมาเป็นประเทศ WL (เฝ้าระวัง) ส่วนประเทศไหนที่เคยอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง ก็จะไม่ต้องอยู่ในกลุ่มประเทศที่เฝ้าระวัง ซึ่งจะเป็นไปตามลำดับขั้น ขณะนี้เราพิจารณาไปพอสมควร แต่ยังตัดสินใจเด็ดขาดไม่ได้” นพ.พรเทพระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top