‘อนุทิน’ ชี้มาตรการปิดเมือง ผวจ.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มาตรการปิดเมืองอย่างกรณีของจังหวัดบุรีรัมย์และอุทัยธานีเป็นการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ หลังจากประกาศให้โรคไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เนื่องจากได้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานให้มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งมาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการเสริมขึ้นมาจากส่วนกลาง

“มาตรการปิดเมือง การไม่ให้เปิดตลาด ยกเลิกตลาดนัด ยกเลิกแข่งขันกีฬา ทำมาได้เดือนหนึ่งแล้ว เพียงแต่ท่านไหนจะเข้มข้น ท่านไหนจะปล่อยหน่อย เป็นอำนาจของผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ ของเขาได้ อย่างบุรีรัมย์ มีสนามบอล สนามแข่งรถ โรงหนัง มีสถานที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเยอะ มีสนามบิน เขาก็ใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งอยู่ภายใต้พ.ร.บ…เป็นตัวอย่างที่ดี ผู้ว่าฯทั่วประเทศยังไม่เคยประสบโรคระบาดขนาดนี้ ถ้าเวิร์คก็ขยายออกไป”

นายอนุทิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม แต่ละจังหวัดมีปัจจัยไม่เหมือนกัน หากมีผู้ที่เดินทางเข้า-ออกมากจังหวัดต้องใช้มาตรการเข้มข้น ซึ่งความเข้มข้นขึ้นกับปัจจัยแต่ละจังหวัด

สำหรับมาตรการกลางของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พยายามใช้มาตรการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่มีอยู่เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการลดความแออัดผู้คน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้มากที่สุด เช่น การประกาศวันสงกรานต์เป็นวันทำงานปกติเพื่อลดการเดินทาง เพราะไวรัสไม่ได้เดินทางเองแต่ไปกับคน หากคนไปมากไวรัสก็เดินทางมากไปด้วย การติดเชื้อของไวรัสเป็นการสัมผัสละอองฝอย หากอยู่ห่างไม่เกิน 1 เมตรก็มีโอกาสติดเพิ่ม

ในส่วนสนามมวย เนื่องจากมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เพราะจากเกิดขึ้นกับคนเดียวแล้วติดเชื้อกันไปกว่า 300 คน คนสัมผัสอีกไม่รู้กี่คน จึงต้องดำเนินมาตรการรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยจะดำเนินการปิดสนามมวยจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นแหล่งที่มีสารคัดหลังเยอะมาก รวมไปถึงสนามม้า สนามฟุตบอล สนามกีฬาอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อในคนหมู่มาก

สำหรับสถานบันเทิงที่เสนอไปเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดจาก 14 วันก่อนเพื่อให้มีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning) และมีมาตรการควบคุมหลายอย่าง ซึ่งคาดว่าเมื่อผ่านระยะ 14 วันและหากเข้าที่เข้าทางแล้วคงสามารถผ่อนคลายมาตรการบางอย่างได้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องให้ความร่วมมือด้วย

“เราไม่อยากไปถึงสุดๆ เพราะสถานการณ์ในประเทศไทยต่างกันเมื่อเทียบกับประเทศอื่น มูลเหตุต่างๆ สถานการณ์ต่างๆ พยายามทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนให้น้อยที่สุด” นายอนุทิน ระบุ

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนร้านอาหารยังไม่มีมาตรการสั่งปิด เพราะวิถีชีวิตคนไทยยังต้องอาศัยร้านอาหาร แต่จากนี้ไปจองโต๊ะ 10 คนอย่าเพิ่งไปกิน นั่งกันห่างๆ หน่อย สั่งมากินที่บ้านหรือทำอาหารกินที่บ้าน ซึ่งทุกมาตรการรอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และขอความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายในการดำเนินมาตรการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top