พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า สถานที่ที่จะให้ปิดเป็นการชั่วคราว 14 วัน ได้แก่
1.สถานประกอบกิจการอาบอบนวด
2.สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร หรือซาวน่า
3.สถานประกอบกิจการโรงมหรสพ เช่น โรงภาพยนตร์ โรงละคร
4.สถานประกอบกิจการออกกำลังกาย หรือฟิตเนส
5.สถานประกอบกิจการที่คล้ายสถานบริการ 1,712 แห่ง ในพื้นที่ 50 เขต ซึ่งจำหน่ายอาหารและสุรา มีการแสดงดนตรี มีเต้นโชว์ เต้นรำ หรือคาราโอเกะ มีพนักงานบริการใกล้ชิด
6.สนามมวย
7.สนามกีฬา หากเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่เกิดการเบียดเสียด และ
8.สนามม้า
โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ของแต่ละสำนักงานเขตลงไปพบผู้ประกอบการเพื่อขอความร่วมมือในการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค ให้ถูกสุขอนามัย
ขณะเดียวกัน กทม.ได้มีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ลดค่าเช่าแผงค้า 21,900 แผง ใน 12 ตลาด ลง 25% เป็นเวลา 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค.63), สถานธนานุบาลยืดเวลาทรัพย์หลุดจำนำจากเดิม 4 เดือน 30 วัน เป็น 8 เดือน, ลดดอกเบี้ยกรณีจำนำไม่เกิน 5 พันบาท จากเดิม 25 สตางค์/เดือน เหลือ 10 สตางค์/เดือน, ลดดอกเบี้ยกรณีจำนำไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท จากเดิม 1 บาท/เดือน เหลือ 50 สตางค์/เดือน, ลดดอกเบี้ยกรณีจำนำเพื่อเป็นกองทุนการศึกษาวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท จากเดิม 1.27 บาท/เดือน เหลือ 50 สตางค์/เดือน เชื่อว่ามาตรการนี้จะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับแรงงานและผู้มีรายได้น้อย และจะพยายามหามาตรการเพิ่มขึ้นต่อๆ ไป
พล.ต.ท.โสภณ ยืนยันว่า กทม.ยังไม่มีแนวคิดที่จะปิดเมือง แต่จะเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาด และเข้มงวดการรักษาความสะอาด ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจจะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ไม่เอาโรคไปติดคนอื่น ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาตั้งแต่เดือน ม.ค.63 พร้อมทั้งยกระดับมาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อนพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากจึงได้มีการประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญก่อนจะออกมาตรการทั้ง 6 ด้าน
“ก่อนหน้านั้นมีข้อสรุปให้ปิดสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากเป็นประจำ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงเรียนกวดวิชา แต่ต่อมาพบว่ามีมีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มในลักษณะที่ไปอยู่รวมกันในสนามมวย ในผับ ในสถานบันเทิง จึงเป็นเหตุให้ ครม.มีมติเห็นชอบให้ปิดสถานบริการเพิ่มเติม” นางนฤมล กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะคัดกรองคนที่มาจากต่างประเทศเข้มข้นมาก ไม่ใช่แค่คนที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศเสี่ยง และ 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น ยังรวมถึงประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่อง ทำให้คนที่จะเดินทางเข้ามายากมาก และมีจำนวนน้อยมาก
ส่วนที่มีการยกเลิกวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนย้ายผู้ที่ติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑลออกไปจังหวัดต่างๆ อยากจะคุมให้อยู่ในพื้นที่เดิม แต่ยังไม่ได้ห้ามเข้า-ออกพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยผู้ที่รับผิดชอบจะมีการประเมินสถานการณ์ทุกวันเพื่อยกระดับมาตรการให้เหมาะสม
“นายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ชีวิต ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ นั้นให้ความสำคัญเป็นเรื่องรอง”
นางนฤมล กล่าว
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินมาตรการทั้ง 6 ด้านตามหลัก Social Distancing ที่ผ่านการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิและถูกต้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากพบสัญญาณบางอย่างที่มีความเสี่ยงจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานเชิงรุกคือพยายามค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุดเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ หากไม่ดำเนินการในลักษณะนี้จะไม่สามารถควบคุมโรคได้ แม้จะมีสัดส่วนผู้ป่วยหนักเพียง 3-4% จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด โดยได้มีการคัดกรองผู้ที่ผ่านช่องทางเข้าประเทศทุกช่องทางอย่างเข้มข้นจำนวน 68 ด่าน จำนวน 5.6 ล้านคน
ด้านนายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวว่า กรณีที่เกิดปัญหาความแออัดของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่เดินทางไปต่อใบอนุญาตที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจำนวน 4 แห่งใน กทม.นั้น กระทรวงฯ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการต่อใบอนุญาตการทำงานเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่ดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็จบสิ้นไป 2.กลุ่มที่ยื่นบัญชีรายชื่อและนัดหมายแล้ว ไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์ฯ แต่ให้นายจ้างนำลูกจ้างไปตรวจลงตราที่ศูนย์บริการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติของ ตม.ได้ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว ศูนย์การค้าบิ๊กซีสะพานใหม่ ศูนย์การค้าบิ๊กซีราษฎร์บูรณะ ส่วนออกบัตรประจำตัวซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ให้ติดต่อสำนักงานเขต กทม.ทั้ง 50 เขต และใบอนุญาตทำงานให้ไปติดต่อสำนักงานจัดหางาน 10 แห่งทั่ว กทม. โดยให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.63
และ 3.กลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นรายชื่อเลย ขอให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อทางออนไลน์หรือมายื่นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 4 แห่ง ไม่ต้องพาลูกจ้างมาด้วย โดยให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19-31 มี.ค.63
“กลุ่มที่ยื่นบัญชีรายชื่อแล้ว ไม่ต้องห่วงเพราะใบอนุญาตทำงานและวีซ่าทำงานซึ่งจะหมดในวันที่ 31 มี.ค. จะมีการผ่อนผันให้สามารถมาขอใบอนุญาตทำงานและวีซ่าได้ถึง 30 มิ.ย. ส่วนในต่างจังหวัดเป็นหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสม” นายจักษ์ กล่าว
สำหรับแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับการดูแลรักษาฟรีโดยสำนักงานประกันสังคม แต่หากนายจ้างให้ลูกจ้างออกเนื่องจากลูกจ้างขอลาเพื่อกักตัว นายจ้างจะมีความผิด
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการขณะนี้ไม่ใช่การปิดเมืองหรือปิดประเทศ แต่เป็นมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าเชื้อเข้าประเทศให้ยากขึ้น และเป็นการชะลอการระบาดในประเทศที่เข้มข้นขึ้น มีการคัดกรองมาตรการบุคคลที่จะกลับเข้าประเทศไทยหรือต่างชาติที่เข้าประเทศไทย รามีการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกให้ดีที่สุด
มาตรการต่างๆ ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน จึงขอโทษประชาชนที่ทำให้ความสะดวกสบายน้อยลงแต่เป็นระยะหนึ่งเท่านั้นจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนการเดินทางต่างๆ ยังใช้ชีวิตปกติเช่นเดิม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 63)
Tags: COVID-19, จักษ์ พันธ์ชูเพชร, นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, รุ่งเรือง กิจผาติ, เทวัญ ลิปตพัลลภ, โควิด-19, โสภณ พิสุทธิวงษ์