SE-ED เอาชนะ Disrupt ด้วย “Big Data” ทรานฟอร์มสู่ “ร้านหนังสืออัจฉริยะ”

บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) ปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่หลังจาก”ร้านหนังสือ”เป็น Sunset Industry เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาเสพข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์, โซเชียลมีเดียที่ได้รับข้อมูลและข่าวสารรวดเร็ว รวมถึงผ่านช่องทาง E-Book กันเป็นจำนวนมาก เพราะพกพาได้สะดวกสบาย

ร้านหนังสือรายใหญ่ที่สุดของไทย อย่าง “SE-ED Book Center” ได้รับผลกระทบจากมรสุม Disruption เช่นกัน สะท้อนจากผลประกอบการในปี 60 ขาดทุนสุทธิกว่า 25 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (61-62) ผลประกอบการกลับมาพลิกมีกำไรสุทธิอีกครั้ง 14 ล้านบาท และ 12 ล้านบาทตามลำดับ เป็นสิ่งพิสูจน์ระดับหนึ่งว่า SE-ED ดำเนินยุทธศาสตร์ธุรกิจร้านหนังสือโต้คลื่น Disruption ด้วยการนำพาองค์กรของนายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ หลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำทัพ SE-ED ตั้งแต่ปลายปี 61 โดยอาศัยประสบการณ์มากมายในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ

ยกเครื่องร้านหนังสือสู่ “ทศวรรษใหม่”

นายเกษมสันต์ เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ก่อนหน้าจะเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด SE-ED ทุกคนกังวลกับแนวโน้มธุรกิจร้านหนังสือที่กำลังทยอยปิดกิจการ แต่เมื่อวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น บางคนอาจมองว่าเป็นผลกระทบ Digital Disruption การขยายของสื่อดิจิทัลได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างรวดเร็ว และปัญหาคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง

เมื่อเป็นเช่นนี้ SE-ED ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นศูนย์กลางเรียนรู้ เพราะเชื่อว่าจากนี้ไปทุกคนในโลกจำเป็นที่ต้องการความรู้มากขึ้นเพื่อไปต่อสู้ให้อยู่รอด ดังนั้นเมื่อลูกค้าเดินเข้ามาร้านหนังสือ SE-ED ก็จะได้อาวุธไปต่อสู้กับปัญหาต่างๆโดยคัดเลือกหนังสือที่ดีระดับโลกและเหมาะสมให้กับลูกค้ามากที่สุด

“ความเชื่อร้านหนังสือเก่าต้องมีหนังสือจำนวนมาก ผมก็เข้ามาเปลี่ยนโฉมร้านหนังสือ SE-ED ใหม่ให้มีความสบายสะดวกกับลูกค้า หนังสือตรงกลุ่มเป้าหมาย กระจายอำนาจให้กับผู้จัดการจัดร้านให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละแห่งแต่ละจังหวัด ปรับบรรยากาศภายในร้านเพิ่มเสียงเพลง

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่า SE-ED เดินมาถูกทางผลประกอบการหยุดขาดทุนแล้ว ถ้าเปรียบเทียบสุขภาพของ SE-ED เมื่อ 2 ปีที่แล้วเหมือนกำลังเข้าไอซียู แต่วันนี้ออกจากโรงพยาบาลเดินได้ด้วยตัวเองแล้ว แต่ผมก็ยังบอกกับทีมงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่าในปี 63 SE-ED ต้องเริ่มวิ่งมาราธอน และต้องวิ่งมาราธอน 5 รอบถึงจะก้าวข้ามจุดนี้ไปได้” นายเกษมสันต์ กล่าว

ปัจจุบัน SE-ED ผลิตหนังสือเพื่อเจาะกลุ่มนักอ่านที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุเป็นหลัก ยกตัวอย่าง แบบแรกเป็นหนังสือเด็กชุด series 10 นาทีอ่านสนุก มี 2 Level ประกอบด้วยระดับปฐมต้นและอนุบาลอย่างละ 30 เล่ม อยู่ในช่วงทดลองด้วยการมอบหนังสือให้โรงเรียน 40 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พร้อมกับทำ workshop ให้ครูและนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมกับการอ่านหนังสือ นับเป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมรักการอ่านให้กับเด็กทั่วประเทศ

ส่วนกลุ่มหนังสือสำหรับผู้สูงวัยหน้าปกเขียนว่า “LARGE PRINT” คัดเลือกหนังสือติดอันดับขายดีใน SE-ED ตัวหนังสือภายในเล่มเป็นขนาดใหญ่มากกว่าปกติเพื่อให้ผู้สูงอายุอ่านง่ายขึ้น นับเป็นนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าผู้สูงอายุ แต่ขายในราคาเท่าขนาดเล่มปกติเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ลุยพัฒนา Big Data เปิดตัว”ดิจิทัล แพลตฟอร์ม”ใน Q2/63 ดึงพันธมิตรเข้าร่วม

นายเกษมสันต์ กล่าวว่า โจทย์ต่อไปที่ธุรกิจต้องเจอคือโลกกำลังไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่ วันนี้ SE-ED เตรียมมุ่งหน้าเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม เป็นการลงทุนของบริษัทเอง ซึ่งนำแนวคิดของ “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้ง Alibaba เว็บไซต์ค้าปลีกอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลกมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์มของ SE-ED

เคล็ดลับไปสู่ความสำเร็จคืออันดับแรกต้องมี “Partnership” โดยบริษัทเปิดดิจิทัล แพลตฟอร์ม พร้อมทั้งชักชวนพันธมิตรหลายรายทั้งในและต่างประเทศที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามารวมในแพลตฟอร์มของ SE-ED มีเป้าหมายตอบโจทย์ทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนรู้ทุกประเภท

อันดับต่อมา คือการพัฒนา “Data Driven” เป็นรูปแบบการพัฒนาระบบจัดการ “Big Data” เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ SE-ED เข้ามาช่วยศึกษาพฤติกรรมลูกค้าสามารถนำเสนอสินค้า, คอนเท้นท์ และหนังสือประเภทต่างๆ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เบื้องต้นคาดว่าการพัฒนาดิจิทัล แพลตฟอร์มและระบบ E-commerce ของ SE-ED มีความชัดเจนและเปิดตัวได้ไม่เกินไตรมาส 2/63

“ตอนนี้เราดึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆที่เขียนหนังสือขายในร้าน SE-ED เข้ามาทำ e-book , podcast ,audio books ด้วยกัน เป็นพันธมิตรไม่ใช่เฉพาะในไทยแต่เป็นพันธมิตรต่างประเทศ”

นายเกษมสันต์ กล่าว

สำหรับโจทย์ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกันคือต้นทุนแพงขึ้นจากค่าเช่าสถานที่ พฤติกรรมคนไทยที่ยังอ่านหนังสือน้อยจำเป็นต้องต่อสู้กับเรื่องนี้ให้รอด แต่ปณิธานของบริษัทต้องรักษาร้านหนังสือ SE-ED ให้คงอยู่ต่อไป แม้ว่าวันนี้ร้านหนังสือ SE-ED จะอยู่ที่ 314 ร้านหลายจังหวัดมีสาขาน้อยกว่าในอดีต ซึ่งถ้าหากดิจิทัล แพลตฟอร์มประสบความสำเร็จก็จะดำเนินยุทธศาสตร์ต่อไป คือ การนำลูกค้าอยู่ในโลกออนไลน์กับออฟไลน์ที่เป็นร้านหนังสือเข้ามาผสมผสานกัน เป็นส่วนช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะถัดไป

แม้ว่าในช่วงตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมายอดขายบริษัทอาจตกลงมาบ้าง เป็นผลกระทบจากการทยอยปิดสาขาเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายและควบคุมต้นทุน แต่เชื่อว่าในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ไปทิศทางผลประกอบการจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ก่อนเริ่มเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดชัดเจนในปีที่ 4

“ร้านหนังสือที่มีค่าเช่าสถานที่มาร์จิ้นก็บางลง เพราะห้างสรรพสินค้าจะเพิ่มค่าเช่าไปเรื่อยๆ เป็นเหตุผลที่ SE-ED ต้องเร่งพัฒนาดิจิทัล แพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา เมื่อประสบความสำเร็จแล้วต้นทุนประกอบกิจการในมิติต่างๆ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ระยะเริ่มต้นต้องใช้เงินลงทุน แต่ระยะยาวเชื่อว่าเกิดความคุ้มค่ากับธุรกิจอย่างแน่นอน

ถ้า SE-ED ไม่เริ่มต้นทำแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาตอนนี้แล้วไปใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ ก็ไม่สามารถคุมต้นทุนได้เมื่อโดนขึ้นราคา ซ้ำร้ายกว่านั้นรัฐบาลยังไม่สามารถเก็บภาษีได้อีกเงินไหลอออกนอกประเทศ ดังนั้น แพลตฟอร์มของเราส่วนหนึ่งก็ช่วยประเทศชาติและช่วยยกระดับวงการหนังสือบ้านเราได้อีกทางหนึ่ง”นายเกษมสันต์ กล่าว

เร่งปรับแผนขายออนไลน์รับมือเศรษฐกิจไทยซบ-โควิดระบาด

นายเกษมสันต์ ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณชะลอชัดเจนมาตั้งแต่ไตรมาส 4/62 และมาโดนซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนออกมาใช้จ่ายข้างนอกบ้านน้อยลง โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้านโยบายของ SE-ED ช่วงนี้หลีกเลี่ยงการจัดงานและไม่เข้าร่วมงานอีเว้นท์ทั้งหมด แม้ว่าสัปดาห์หนังสือที่จะเตรียมจัดขึ้นช่วงปลายเดือน มี.ค.ได้ยกเลิกไปแล้ว แต่มีหลายคนที่พยายามอยากจัดงานนี้ขึ้นมามองว่าอยากรักษาสวัสดิภาพของพนักงาน

ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นช่องทางการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น พบว่าเติบโตชัดเจนล่าสุดทาง SE-ED มีการแจกฟรี E-Books กว่า 300 เล่มให้กับผู้เข้ามาใช้บริการออนไลน์ของ SE-ED และกำลังขอความร่วมมือกับผู้เขียนอีกหลายรายเพื่อมาเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

สำหรับสถานการณ์เช่นนี้อาจต้องปิดบางสาขาในห้างสรรพสินค้าในกรณีที่มีค่าเช่าสูงและหมดสัญญาไม่คุ้มค่ากับการลงทุนต่อไป แต่อาจหาแนวทางเปิดสาขาในบริเวณใกล้เคียงเพื่อมาชดเชยยอดขายหายไป ซึ่งจะต้องมีต้นทุนบริหารจัดการที่ต่ำกว่าเดิม โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นว่าจะพยายามรักษาจำนวนสาขาทั้งปี 63 ไม่ให้ต่ำกว่า 300 แห่งจากปัจจุบันมีทั้งหมด 314 แห่ง

สำหรับแผนรับมือผลกระทบโควิด-19 คาดอาจลากยาวไปถึงเดือน มิ.ย.63 หวังว่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แม้ว่าอาจยังหลงเหลือผลกระทบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในระหว่างทางบริษัทต้องมุ่งใช้แผนควบคุมต้นทุน พร้อมกับนำเสนอสินค้าที่เป็นหนังสือในราคาไม่แพงเกินไปลูกค้าสามารถใช้จ่ายได้ตามกำลังซื้อ

“เศรษฐกิจเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญมากกับผลการดำเนินงาน SE-ED เพราะจำนวนสาขา 50% อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการน้อยลงชัดเจน แม้ว่าสาขาในกรุงเทพฯอาจมีบางแห่งที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากปรับปรุงสาขาใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทมุ่งเป้าขยายสาขาครบทุก 77 จังหวัด เช่น นราธิวาสยังไม่เคยเปิดสาขาก็จะไปเปิดสาขา แต่รูปแบบการเปิดอาจปรับเปลี่ยนไป โดยร่วมมือกับร้านหนังสือท้องถิ่นที่มีฐานลูกค้าประจำในจังหวัดหรือตามพื้นที่อำเภอใหญ่หัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ”

นายเกษมสันต์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top