ธปท.ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้-ตั้งกองทุนหนุน

กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมแถลงมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดตราสารหนี้หลังพบการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้มากผิดปกติ สืบเนื่องจากความกังวลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจมีต่อผู้ออกตราสาร โดยหนึ่งในมาตรการ คือการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความกังวลให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ราคาสินทรัพย์ผันผวนสูง นักลงทุนในหลายประเทศเทขายสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง กระทบสภาพคล่องของตลาดการเงิน ส่งผลให้ตลาดการเงินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ภาครัฐในหลายประเทศจึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินอย่างต่อเนื่อง

แม้ระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพดี ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเข้มแข็งและไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่สถานการณ์สภาพคล่องตึงตัวในระบบการเงินโลก และกลไกตลาดการเงินที่ทำงานต่างจากสภาวะปกติ ได้เริ่มส่งผลต่อตลาดการเงินไทย ธปท.ได้ช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่าหนึ่งแสนล้านบาทในช่วงวันที่ 13 -20 มี.ค.63 ลดและยกเลิกการออกพันธบัตร ธปท.

และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.63 คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ธปท. พร้อมที่จะเข้าดูแลตลาดพันธบัตรรัฐบาลให้ทำงานได้ตามปกติ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลผันผวน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่ยังมีความผันผวนสูง ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนบางส่วนเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่งผลให้กองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่ง ต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติ เพราะการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่น ๆ ตามมา จนกระทบต่อการทำงานของกองทุนรวมตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคเอกชน เศรษฐกิจ และประชาชนเป็นวงกว้าง

กระทรวงการคลัง ธปท. และ ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และเห็นควรออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายผลต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้านดังต่อไปนี้

  1. กองทุนรวมตราสารหนี้ ธปท. จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้ โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ จากการประมาณการเบื้องต้นพบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มูลค่ารวมกว่าหนึ่งล้านล้านบาท
  2. ตราสารหนี้ภาคเอกชน สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000 – 100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องจนส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุ (rollover) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน
  3. ตราสารหนี้ภาครัฐ ธปท. พร้อมที่จะดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

มาตรการเหล่านี้จะเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงินและช่วยให้กลไกตลาดตราสารหนี้กลับมาทำงานได้อย่างปกติท่ามกลางภาวะตลาดการเงินโลกที่ผันผวน และจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตราสารหนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมกันติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะร่วมมือในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินที่ส่งผลให้การทำงานของตลาดการเงินไม่ปกติ ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้โดยรวมมีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีและความเสี่ยงต่ำ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกหรือเร่งไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ในภาวะที่ตลาดการเงินไม่ปกติ เพราะอาจส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น

นายวิรไท กล่าวว่า มาตรการดูแลตลาดพันธบัตรรัฐบาลนั้น ธปท.จะดูแลอย่างต่อเนื่องและทำมากขึ้น

ส่วนมาตรการที่จะช่องทางที่เป็นการซื้อคืน (repurchase) ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้มาวางเป็นหลักประกันเพื่อกู้ยืมจาก ธปท.ได้นั้น พรุ่งนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ธปท.ให้พิจารณา ซึ่งจะให้มีผลดำเนินการตั้งแต่วันอังคารนี้ หมายความว่าธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมฯ ได้ตั้งแต่พรุ่งนี้ และวันอังคารจะสามารถมาขอสภาพคล่องจากช่องทาง repurchase ของ ธปท.ได้

ส่วนกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและจะ roll-over นั้น ได้มีการเลือกบริษัทที่จะจัดตั้งกองทุนแล้ว คาดภายใน 1 สัปดาห์จะมีผลบังคับใช้ได้ เชื่อว่าจะทันสถานการณ์

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนเกิดขึ้น ประชาชนก็จะมีความต้องการเก็บเงินสดไว้ในมือ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีผู้ต้องการขายหน่วยลงทุนคืนพร้อมๆ กันจำนวนมาก ดังนั้นหากเป็นหน่วยลงทุนที่ไม่ได้มีปัญหาก็สามารถรับซื้อคืนได้ทั้งหมด เพียงแต่ราคาอาจจะลดลงไปจากเดิม แต่ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาที่จะไม่ได้รับเงินคืนจากการขายหน่วยลงทุน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม มีสภาพคล่องที่เพียงพอ มีเงินกองทุนที่เพียงพอ และสามารถขยายการให้สินเชื่อได้ต่อไปอีกในระยะยาว

“ถ้ามีผู้ขายหน่วยลงทุนมา บลจ.แม้จะมีเงินน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ แต่ก็มีการถือสินทรัพย์อยู่ ถ้าขายให้ธนาคาร กองทุนรวมฯ หากใครมีความจำเป็นจะมาขายก็ได้ แต่ราคาที่ขายอาจจะได้ไม่เต็ม เป็นการขายลด แต่ไม่มีปัญหาที่จะไม่ได้เงินคืน ถ้าคนมาขายเยอะ ธนาคารพาณิชย์ก็รับซื้อ ถ้าเงินไม่พอ ก็หันไปหาธปท. ที่วันนี้ มีการกำหนดชัดเจนว่า เราสามารถกู้เงินจากธปท.มาซื้อสิ่งเหล่านี้ได้หมด”

ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าว

พร้อมแนะว่าการตัดสินใจนำหน่วยลงทุนมาขาย จะต้องพิจารณาให้ดีว่าราคาอาจจะลดลงไป หรือได้น้อยลงไป ซึ่งอาจจะทำให้ตื่นตระหนกกันไปอีก ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องขาย

“อยากเรียนว่า ถ้าห่วงปัญหาสภาพคล่อง เมื่อดูแล้ว ตราสารประเภทนี้ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกัน เมื่อมองในความเชื่อมั่นระยะที่ไกลกว่านี้ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารของรัฐ และบริษัทประกันภัย จะมาร่วมกันภายใต้แนวทางที่ทำกองทุนขึ้นมา หากมีใครจะมาขายกองทุนตราสารหนี้ต่างๆ เราจะนำเงินเหล่านี้ไปซื้อ เราไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อหากำไร หรือก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทางธุรกิจ แต่ทำเพื่อสร้างความมั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์ และผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้ไม่เกิดปัญหาในจังหวะที่ผู้คนต้องการขายตราสารเหล่านี้ ขอยืนยันว่าสภาพคล่องของระบบการเงินไม่มีปัญหาอะไร” นายปรีดีระบุ

พร้อมย้ำว่า ในการดูแลจัดการเงินสดของธนาคารพาณิชย์นั้น แต่ละธนาคารมีการจัดการควบคุมดูแลอัตราส่วนการให้กู้ยืม กับเงินฝากที่มีอยู่อย่างละเอียดรอบคอบทุกวัน ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไม่เคยไม่มีเงินให้ถอน ฝากเท่าไร ก็ถอนได้เท่านั้น และมีบวกดอกเบี้ยให้ด้วย ดังนั้นจึงขอว่าอย่ากังวล เพราะกรณีนี้จะแตกต่างจากการลงทุนในตราสารหนี้

ขณะเดียวกัน วันพรุ่งนี้จะนำข้อมูลไปรายงานให้ทางรัฐบาลได้รับทราบว่ากลไกการทำงานของธนาคารพาณิชย์ในภาวะที่ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกตินั้น ยืนยันว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องเพียงพอ เงินในตู้เอทีเอ็มยังมีเพียงพอให้ประชาชนเบิกถอนได้ทุกวันทุกเวลา

“เราเตรียมสถานการณ์ความพร้อมสาขาต่างๆ ในห้าง ตู้เอทีเอ็มต้องมีเงินพร้อม การจัดการพนักงานในแต่ละกลุ่ม เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ยืนยันเงินสดมีเพียงพอ อะไรที่เป็นพันธบัตรมาขายเท่าไรก็ซื้อ แต่ตราสารหนี้ เรามีกองทุนที่จะมารับซื้อ มี top up ให้ ในระบบการเงิน ภาคเอกชนร่วมทำงานใกล้ชิด ไม่ให้มีปัญหาสะดุดกับประชาชน และภาคธุรกิจ”

นายปรีดี ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top