สมาคมอสังหาฯ วอนรัฐปรับมาตรการปิดแคมป์คนงานหลังประเมินความเสียหายมหาศาล

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า จากมาตรการปิดแคมป์คนงานเป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก เนื่องจากมีโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการแนวราบ จากมาตรการดังกล่าวทำให้การก่อสร้างโครงการต่างๆ ต้องหยุดชะงักในทันที เบื้องต้นประเมินความเสียหายของการปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิดมาก่อน แต่ก็เริ่มมีสัญญาณมาแล้วตั้งแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง และมีประเด็นการติดเชื้อในแคมป์คนงานเกิดขึ้น จากมาตรการปิดแคมป์คนงาน 1 เดือนก็ทำให้ตลาดช็อค เพราะการก่อสร้างทุกอย่างหยุดชะงัก ไปต่อไม่ได้ ซึ่งพวกเราก็ต้องทำตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มีมหาศาลทั้งภาคอสังหาฯเองและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเราตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะยืดเยื้อไปอีกหรือเปล่า”

นางอาภา กล่าว

ผลกระทบจากงานก่อสร้างที่หยุดชะงักยังทำให้การโอนโครงการที่ต้องส่งมอบที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าอาจต้องมีการเลื่อนออกไป ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความเสี่ยงจากลูกค้าที่จะอาจใช้เป็นข้ออ้างขอยกเลิกและขอคืนเงิน หรือจะต้องเสียค่าปรับให้กับลูกค้าจากการส่งมอบโครงการล่าช้าออกไป ทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างมาก

ดังนั้น สิ่งที่อยากเสนอต่อภาครัฐให้ผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว โดยใช้เป็นการควบคุมเฉพาะจุด เพื่อให้การก่อสร้างในภาพรวมยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เช่น คัดแยกคนงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ออกจากกลุ่มแรงงานที่ไม่ติดเชื้อ พร้อมกับจัดสรรวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มแรงงานในแคมป์เป็นการเร่งด่วน

นอกจากนี้ในส่วนของงานก่อสร้าวบางส่วนที่ใช้ระยะเวลาสั้น 1-3 วัน และใช้คนงานไม่มากเพียง 1-3 เช่น การเก็บงาน Defect ให้กับลูกค้าเพื่อเตรียมส่งมอบนั้น อยากให้ทางภาครัฐมีการพิจารณาให้สามารถดำเนินการได้ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งมอบห้องหรือบ้านให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด และทำให้ผู้ประกอบการยังมีรายได้เข้ามา

นางอาภา กล่าวว่า นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่ผู้ประกอบการจะอยู่รอดและผ่านพ้นจากวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ คือ การมีสภาพคล่องไว้เป็นเงินสำรอง รองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ และการชำระคืนเงินกู้ให้กับสถาบันการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และทำให้สถาบันการเงินยังมีความมั่นใจในตัวของผู้ประกอบการเอง โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและกลางที่อาจจะมีสายป่านไม่ยาวเท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่

ด้านนายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า มาตรการปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็ก โดยมองความเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 1 เดือนมีมูลค่ามหาศาล และมาตรการชดเชยของภาครัฐที่ออกมาล่าสุดถือว่ายังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การก่อสร้างทุกอย่างหยุดชะงักในช่วงระยะเวลา 1 เดือนได้

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปิดแคมป์คนงานเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องแบกภาระมากขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่ค่าก่อสร้างอย่างเดียว แต่มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนอื่นๆทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อมที่มีในงานก่อส้างโครงการ ซึ่งหากประเมินมูลค่าความเสียหายเพาะจากต้นทุนที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างโครงการทั้งหมดที่หยุดไป 1 เดือนก็น่าจะอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท/เดือน แต่ถ้าปิดมากกว่า 1 เดือนก็มีโอกาสมากขึ้นกว่านี้”

นายวสันต์ กล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงาน ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์พร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐ โดยที่ไม่ต้องมีการสั่งปิดแคมป์คนงาน ซึ่งมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการและภาครัฐร่วมมือกันจะทำให้ความเสียหายเกิดน้อยที่สุด และช่วยภาครัฐในการประหยัดงบประมาณในการนำมาชดเชยและเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้าง

โดยตัวอย่างมาตรการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น การเคลื่อนย้ายคนงาน ซึ่งหลายภาคส่วนมีความเป็นห่วงในการที่เป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายเชื้อโควิก-19 โดยแนวทางการเคลื่อนย้ายคนงานนั้นจะเป็นการที่ใช้รถในการเคลื่อนย้ายทะเบียนเดียวกันตามที่ไซต์ก่อสร้างนั้นๆ กำหนด รวมถึงมีการตรวจสอบคนงานที่เข้า-ออกไซต์ก่อสร้างอย่างถี่ถ้วน รวมไปถึงการใช้มาตรการ Bubble and Seal ในแต่ละไซต์งาน โดยผู้ประกอบการและภาครัฐจะต้องกำหนดมาตรการร่วมกัน และให้ปิดเป็นจุดๆ ไปเหมือนกับในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ในสมุทรสาคร ซึ่งทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นจำกัดในวงแคบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องการให้ทางภาครัฐผ่อนคลายมาตรการลงในบางกิจกรรมก่อสร้างที่เป็นกิจกรรมเล็กๆ โดยเฉพาะการแก้ไขงาน Defect ให้กับลูกค้า เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด และลดความเสี่ยงจากการต้องจ่ายค่าปรับและการคืนเงินให้ลูกค้า หากไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด เพื่อช่วยลดความเสียหายให้กับผู้ประกอบการ และยังทำให้ผู้ประกอบการยังมีรายได้เข้ามา

อย่างไรก็ตามทาง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ จะมีการหารือกันเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงาน เพื่อเสนอต่อภาครัฐในการผ่อนคลายมาตรการลง โดยที่ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ทุกรายพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด และทำให้งานก่อสร้างยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์และผู้ประกอบการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบไม่มากจนเกินไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน มีมูลค่าความเสียหายที่มาก และยังไม่มีความแน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวจะขยายระยะเวลาเพิ่มอีกหรือไม่ จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบมากขึ้น จากปัจจุบันที่การขายที่อยู่อาศัยก็ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีก่อนทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

โดยเฉพาะโครงการที่มีแผนกำหนดสร้างเสร็จและเตรียมโอนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ อาจจะต้องเลื่อนการโอนออกไปบางโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้ไป พร้อมกับยังต้องแบกรับต้นทุนการก่อสร้างที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคาเหล็ก ทองแดง และแสตนเลส ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างสำคัญที่ยังมีทิศทางขาขึ้น และความเสี่ยงในการที่ลูกค้าจะเรียกค่าปรับเมื่อส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนด หรือการที่ลูกค้าจะขอยกเลิกการจองและขอเงินคืน

รวมไปถึงความเสี่ยงของการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน เมื่อช่วงเวลาการกู้ต้องเลื่อนออกไป และความสามารถในการกู้ของลูกค้าก็มีโอกาสเปลี่ยนไปได้ เพราะระหว่างทางไม่รู้ว่าลูกค้าจะมีการก่อหนี้เพิ่มหรือรายได้ลดลงหรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รับความเสี่ยงเข้ามามาก

“รอบนี้ก็กอดคอกันลงทั้งอุตสาหกรรมจากมาตรการที่ออกมา ทำให้งานก่อสร้างทุกอย่างหยุดชะงักทันที ก็อยากให้มาตรการที่ออกมาควรเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพราะตอนนี้ภาครัฐก็มีมาตรการที่เด็ดขาด ส่วนมาตรการของสภาอุตฯก็เป็นอีกอย่าง ทำให้พวกเราก็ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการเราพร้อมสร้างความมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยที่เราพร้อมที่จะมาปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานสุขอนามัยในการแคมป์คนงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งพวกเราเป็นคนที่เข้าใจพฤติกรรมคนงานในแคมป์มากที่สุด จะให้รอวัคซีนมาฉีดในแคมป์ก็คงรอไม่ได้ เพราะวัคซีนตอนนี้ยังมีไม่พอฉีดให้กับประชาชน เราเลยจะหาแนวทางในการเสนอภาครัฐโดยที่เราพร้อมที่จะร่วมมือในการป้องกันแพร่ระบาดในแคมป์คนงาน”

นายนริศ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ทุกรายจะต้องเตรียมรับมือกับผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมองว่ามาตรการเยียวยาจากภาครัฐล่าสุดที่ออกมาไม่สามารถครอบคลุมผลกระทบที่เกิดขึ้นได้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีต้นทุนสูง และมีสายป่านและช่องทางในการระดมทุนไม่เท่ากับรายใหญ่ที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และมีช่องทางในการระดมเงินทุนที่หลากหลาย ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางต้องหาทางให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปให้ได้ และมีเงินรองรับการคืนหนี้ตามกำหนด ภายใต้ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top