ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 6,087 ราย ในปท.3,905-ตรวจเชิงรุก2,171-ตปท.11,ตาย 61

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 270,921 คน (+6,087)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 3,905 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 1,964 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 207 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 11 ราย
  • รักษาหายแล้ว 214,340 คน (+3,638)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 54,440 คน (+2,388)
  • เสียชีวิตสะสม 2,141 คน (+61)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,087 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,905 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,964 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 207 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย โดยยังคงพบการเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ จากเมียนมา และกัมพูชา
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 61 ราย แยกเป็นเพศชาย 29 ราย เพศหญิง 32 ราย อายุระหว่าง 30-90 ปี, อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 70% ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังมาจาก กทม. 28 ราย, นนทบุรี 9 ราย, สมุทรปราการ 8 ราย, ปัตตานี 5 ราย, ปทุมธานี นราธิวาส จังหวัดละ 3 ราย, เชียงราย สงขลา นครปฐม นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย โดยยังพบมีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

โดยข้อมูลผู้เสียชีวิต จำแนกกลุ่มอายุ และกลุ่มเป้าหมายสำคัญตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-1 ก.ค. พบว่า เป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปีจำนวน 1,322 ผู้มีโรคประจำตัวโรคเรื้อรังจำนวน 1,614 และบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 4 ราย มีทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ พนักงานโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ศูนย์สาธารณสุข

ทั้งนี้ จากรายงานของกรมควบคุมโรค ในจำนวนผู้ป่วย 100 ราย จะพบผู้ป่วย 5 ราย หรือคิดเป็น 5% มีรายงานมีอาการปอดติดเชื้อ และจาก 2 รายใน 5 รายนี้ มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยที่ใช้เครื่องหายใจใน 10 คน จะมีประมาณ 1-2 คนเสียชีวิต

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 270,921 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 214,340ราย เพิ่มขึ้น 3,638 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 2,141 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องวางแผนมาตรการจัดการเตียง ซึ่งได้มีการเพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยระดับเหลืองและแดง และได้เน้นย้ำ ให้มีการระดมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคหลัก

ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่ 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 2,267 ราย, สมุทรปราการ 522 ราย, นนทบุรี 327 ราย, สมุทรสาคร 289 ราย, ปทุมธานี 284 ราย, ชลบุรี 222 ราย, ยะลา 201 ราย, ปัตตานี 169 ราย, สงขลา 167 ราย, นราธิวาส 124 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ที่พบในวันนี้อยู่ในกทม. เป็นแคมป์ก่อสร้าง ซอยสุขุมวิท 50 เขตคลองเตย พบผู้ติดเชื้อ 43 ราย และโรงงาน เขตหนองแขม พบผู้ติดเชื้อ 70 รายจากการคัดกรองพนักงาน 1,300 คน และที่ จ.สมุทรปราการ เป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย, จ.นนทบุรี ที่ตลาดเทศบาล อ.ปากเกร็ด พบผู้ติดเชื้อ 43 รายและที่ตลาดพิชัย อ.ปากเกร็ด พบผู้ติดเชื้อ 75 ราย, จ.สมุทรสาคร ที่บริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติก อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย และที่โรงงานลูกชิ้น อ.กระทุ่มแบน พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย, จ.สุราษฏร์ธานี ที่แคมป์ก่อสร้าง อ.พุนพิน พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย, จ.ขอนแก่น ที่ศูนย์พัฒนาเด็ก อ.สีชมพู พบผู้ติดเชื้อ 45 ราย

พญ.อภิสมัย ระบุว่า การระบาดระลอกใหม่ พบเชื่อมโยงการเดินทางจากกทม. และปริมณฑลไปข้ามไป 34 จังหวัด ภาคเหนือ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ภาคกลางและตะวันออก 8 จังหวัด และภาคใต้ 6 จังหวัด

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงที่บ้าน และเกรงว่าจะเกิดภาวะอาการรุนแรง จึงได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ ให้ศบค.กระทรวงสาธารณสุข กทม.ให้มีการหารือจัดการผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน โดยในสัปดาห์นี้จะมีมาตรการแยกกักกันในชุมชน โดยให้มีการจัดเตรียมสถานที่แยกกักในชุมชน (Community Isolation) หลังจากทราบผลว่าติดเชื้อแล้ว และอยู่ระหว่างการรอเตียง ซึ่งทางกทม.จะเร่งรัดจัดการให้เร็วที่สุด และทางผู้ว่ากทม.จะมีการหารือในวันนี้และมีการกำหนดมาตรการดูแลตัวเองในชุมชน รวมถึงมาตรการกักกันในชุมชนไม่นำไปสู่การแพร่ระบาดของบุคคลที่ใกล้ชิด

นอกจากนี้ ในที่ประชุม EOC ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึง ศักยภาพในการเพิ่มเตียงทั้งสีเขียว สีเหลืองและสีแดง โดยเริ่มได้ที่โรงพยาบาลบุษราคัมได้ทันที

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทางกทม.มีบริการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ให้กับผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ผู้มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้พิการ โดยในส่วนของผู้สูงอายุและผู้ดูแลใน Nursing home เป้าหมาย 4,615 คน เป็นผู้สูงอายุ 2,846 คน และผู้ดูแลในNursing home 1,769 คน และผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง และผู้ดูแล ใน 50 เขต เป็นผู้สูงอายุ 1,470 คน และผู้ดูแล 306 คน จะมีการดำเนินการฉีดวัคซีนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้พระราชทานวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับกทม. 6,400 โดส

ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม EOC ยังได้หารือถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ค่อนข้างสูงในสัปดาห์นี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และเริ่มมีอาการแย่ลงและเสียชีวิตในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากระดมฉีดวัคซีนจะมีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับผู้สูงอายุ และมีผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และ 2 กลุ่มนี้เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนจะลดอาการป่วยหนักและการเสียชีวิต

“เมื่อเริ่มฉีดประมาณ 7 มิถุนายน ต้องรอผลประมาณอย่างน้อยๆ 1-2 เดือน จึงจะเห็นว่า หลังฉีดวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหลังจากฉีด 2 สัปดาห์ครบแล้ว จะทำให้ภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่า อัตราป่วยหนักและอัตราตายจะน้อยลง”

พญ.อภิสมัย กล่าว

รองโฆษก ศบค. กล่าวถึง โควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ติดเชื้อได้ง่าย แพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่จะเกิดความรุนแรงกับผู้สูงอายุ หรือโรคประจำตัว 7 โรค จึงได้มีการเน้นย้ำไปยังกลุ่มเสี่ยงให้มีการเพิ่มความระวัดระวังตัวด้วย

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 183,414,645 ราย เสียชีวิต 3,971,442 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,561,403 ราย อันดับ 2 อินเดีย 30,453,937 ราย อันดับ 3 บราซิล 18,622,304 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 5,777,965 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 5,538,142 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 70

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top