ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 6,519 ราย ในปท.4,958-ตรวจเชิงรุก 1,545-ตปท.16,ตาย 54

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 301,172 คน (+6,519)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 4,958 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 1,490 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 55 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 16 ราย
  • รักษาหายแล้ว 231,171 คน (+4,148)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 67,614 คน (+2,317)
  • เสียชีวิตสะสม 2,387 คน (+54)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,519 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,958 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,490 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 55 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย มาจากอินเดียและกัมพูชา ประเทศละ 5 ราย จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย จากบลังลาเทศ สหราชอาณาจักร ลิเบีย โอมาน ประเทศละ 1 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย แยกเป็น เพศชาย 32 ราย เพศหญิง 22 ราย อายุระหว่าง 26-89 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในกทม.ถึง 30 ราย, ปัตตานี 4 ราย สมุทรปราการ และปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย, นครราชสีมา ยะลา และสมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย, เชียงราย เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ความดัน, เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 301,172 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 231,171 ราย เพิ่มขึ้น 4,148 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 2,237 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า มีการเดินทางข้ามพื้นที่ของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงกลับไปต่างจังหวัด ทำให้มีการกระจายการติดเชื้อไปแล้ว 40 จังหวัด ไปที่ภาคเหนือ 11 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด และจากการตรวจพบผู้ป่วยในกทม.และปริมณฑล ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาค่อนข้างมาก จึงคาดการณ์ได้ว่าผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดก็เป็นสายพันธุ์เดลตาเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ จากการนำเสนอของผู้เชี่ยวชาญต่อรายละเอียดของสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดในหลายพื้นที่ พบว่า ในประเทศอังกฤษพบในประชากรผู้ติดเชื้อเกิน 90% และในสหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเชื้อเกิน 20% และมีรายงานว่าคนที่รับวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 ยังมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ แต่มีเพียง 8% ที่มีอาการป่วยหนัก และทำให้ยอดผู้เสียชีวิตลดลง

“แพทยสมาคมมีความเป็นห่วง และประเมินคร่าวๆ ว่า เราพบสายพันธุ์เดลตาประมาณเดือนมิถุนายน มีผู้เชี่ยวชาญของอเมริการายงานว่า สายพันธุ์นี้มีความสามารถแพร่กระจายได้เร็ว มีการคาดการณ์ว่า จะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์นั้นคร่าวๆ เราเห็นตัวเลข 1 พันเป็น 2 พัน และ 2 พันเป็น 4 พัน ตอนนี้ ถ้าสมมติว่าเราคาดการณ์ไปในสัปดาห์หน้า อาจจะยังขึ้นได้ถึง 1 หมื่น จึงต้องขอให้ทุกคนเน้นย้ำมาตรการส่วนตัว ลดการเคลื่อนย้าย และเฝ้าระวังผู้สูงอายุ รวมถึงเน้นย้ำการฉีดวัคซีนด้วย”

พญ.อภิสมัย กล่าว

ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่ 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 1,549 ราย, สมุทรปราการ 548 ราย, สมุทรสาคร 434 ราย, นครปฐม 266 ราย, ชลบุรี 262 ราย, ฉะเชิงเทรา 252 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 241 ราย, นนทบุรี 235 ราย, ปทุมธานี 21 ราย และปัตตานี 190 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า วันนี้กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง ที่เขตมีบุรี เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ พบผู้ติดเชื้อ 6 ราย และเขตบางนา ที่โรงงานผลิตจิวเวลรี่ ส่วนในต่างจังหวัดพบคลัสเตอร์ใหม่ที่ จ.นนทบุรี โรงงานน้ำจิ้ม อ.บางบัวทอง 61 ราย ,จ.ปทุมธานี โรงพยาบาลเอกชน อ.คลองหลวง 10 ราย ,จ.ตาก โรงงานพืชไร่ อ.แม่สอด 33 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับการรายงานตัวเลข กทม.ที่มีประชาชนรอเตียง วันนี้ กทม.รายงานว่า ผู้ป่วยสีแดงอยู่ที่ 40-50 รายต่อวัน ผู้ป่วยสีเหลือง 200-300 รายต่อวัน ผู้ป่วยสีเขียวอยู่ที่ 300-400 รายต่อวัน และตัวเลขสะสม 2 สัปดาห์จะเห็นได้ชัดว่า แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อใหม่เข้ามา ตัวเลขสะสมจึงสูงขึ้น ขณะที่การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษานั้น ศูนย์เอราวัณสามารถดำเนินการส่งผู้ป่วยได้ 500 เที่ยวต่อวัน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการหารือถึงมาตรการจัดการ 2 ส่วน คือ การเพิ่มศักยภาพการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังศูนย์บริการที่ได้รับการดูแล โดยผู้ป่วยสีแดงต้องเข้าสู่ระบบทันที สีเหลืองต้องมีระยะเวลาคอยน้อยที่สุด อาจจะเป็น 1 วัน เพื่อนำทุกคนเข้าสู่ระบบ ส่วนผู้ป่วยสีเขียวหรือสีขาวที่แข็งแรงดี จะถูกจัดสรรไปอยู่ที่ศูนย์พักคอยของกทม.ในแต่ละเขต โดยในวันนี้ มีการเปิดให้บริการได้แล้ว 5 ศูนย์ ที่เหลือจะทยอยเปิดในวันที่ 9 ก.ค. โดยจะมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงคอยดูแลศูนย์ต่างๆ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับสูง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะใช้เวลาเตรียมการภายใน 3 สัปดาห์ และเปิดรับผู้ป่วยได้ประมาณเดือนส.ค. ประมาณ 5,000 เตียง โดยสำรองให้กับผู้ป่วยสีแดง 1,360 เตียง ที่เหลือเป็นสีเหลือง สีเขียว

รวมถึงได้มีการหารือถึงการให้ผู้ป่วยแยกกักที่บ้าน ซึ่งมีการหารือมาหลายครั้ง แต่ที่ยังไม่ประกาศใช้ เพราะการให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านมีความเสี่ยงอยู่ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สิ่งสำคัญต้องมีมาตรการให้ผู้ป่วยประเมินตัวเองได้อย่างแม่นยำ บุคคลากรต้องมีช่องทางในการสอบถามอาการ ประกอบกับต้องมีมาตรการแยกกัก เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ ซึ่งบุคคลากรทางการแพทย์จึงไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยทุกรายเลือกการแยกกัก เพราะต้องอยู่ในดุลยพินิจด้วย

พญ.อภิสมัย กล่าวถึง กรณีที่ยังมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถหาที่ตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีประชาชนจำนวนมากที่มีความสงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อหรือไม่ และต้องการเข้ารับการตรวจ แต่ก็ได้เห็นจากข่าวว่าหลายคนไปถึงโรงพยาบาลแล้วได้รับการปฏิเสธ ซึ่งในข้อเท็จจริง รัฐไม่ได้ห้ามการตรวจหาเชื้อ แต่จะต้องเป็นห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน ซึ่งหลายห้องปฎิบัติการทำได้มาตรฐาน และแม่นยำ เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจยืนยันผลเป็นบวกแล้ว สามารถนำเข้าสู่การรักษาได้ทันที

“แต่จะได้ยินบ่อยว่ามีลักษณะการตรวจที่เรียกว่า Rapid test ซึ่งบางทีผู้ป่วยถือผลแล็ปไปโรงพยาบาลแล้ว จัดเตียงให้ไม่ได้ ต้องให้ไปตรวจซ้ำ เพราะถือว่า Rapid test ยังมีข้อจำกัดในการยืนยันการติดเชื้อ บางแห่งเป็นการตรวจแบบเจาะเลือดปลายนิ้วมือ หากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีเชื้อปริมาณมาก การตรวจแบบ Rapid test สามารถตรวจจับได้จริงว่าเป็นผลบวก แต่ก็พบว่า ความไวของการตรวจแบบ Rapid test ค่อนข้างต่ำ ซึ่งหมายความว่าบางคนผลออกมาลบ แต่คนๆ นั้นอาจเป็นผู้ติดเชื้อ แต่การตรวจแบบ Rapid test ตรวจไม่เจอ”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่าการตรวจหาเชื้อแบบ Rapid test สามารถใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องผ่าตัดเร่งด่วน หลายโรงพยาบาลก็ใช้การตรวจแบบนี้ หรือกรณีคนที่มีอาการ หรือมีเชื้อจำนวนมาก ก็ตรวจแล้วพบได้ ซึ่งถือว่า การตรวจแบบ Rapid test สามารถรายงานผลได้แม่นยำ แต่ยังมีความเป็นห่วงว่า การที่ไม่อนุญาตให้บางแล็ปตรวจนั้น น่าจะเป็นเหตุผลเรื่องมาตรฐานการตรวจมากกว่า

และทุกโรงพยาบาลขณะนี้มีการรับตรวจ แต่จะเน้นไปยัง 2 กลุ่มหลัก คือ ทุกโรงพยาบาลตรวจเป็นมาตรฐานในกลุ่มที่เตรียมการผ่าตัด การคลอดลูก ทำฟัน หรือจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เข้าห้องไอซียู แต่ละโรงพยาบาลมีมาตรฐานที่จะต้องตรวจกลุ่มนี้อยู่แล้ว และกลุ่มที่สองคือ ให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ถือได้ว่ามีประวัติเสี่ยงสูง เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น มีประวัติว่าสามีติดเชื้อ เดินเข้าไปในโรงพยาบาล แล้วแจ้งประวัติกับบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะรับตรวจเพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นผู้ติดเชื้อ

ซึ่งการตรวจของโรงพยาบาลในสองกลุ่มนี้ ตัวเลขอยู่ที่ 300-400 รายต่อวัน ถือว่าเป็นภาระหน้างาน ดังนั้น ถ้าประชาชนที่เข้าไปขอตรวจโดยไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผ่าตัด หรือไม่ได้มีประวัติเสี่ยงสูงใดๆ โรงพยาบาลอาจจะขอให้สิทธิ์กับผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องตรวจก่อน

ทั้งนี้ ที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก ได้หารือว่าการที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงตรวจจะมี 2 ส่วน คือถ้าเป็นผู้ป่วยเข้ามาขอตรวจเองด้วยประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อที่ยืนยันก่อนหน้านี้ พบว่าในจำนวนตรวจ 100 คน มี 90 คนเป็นผลบวก ถือว่าแม่นยำ 90% ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง กทม.รายงานว่ามีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนที่ตลาด โรงงาน เมื่อไปตั้งจุดตรวจตาม 6 กลุ่มเขต พบว่า อัตราการตรวจจับการระบาดในระบบเฝ้าระวัง พบผู้ติดเชื้อเพียง 10% ดังนั้น กทม.จึงจะปรับระบบการตรวจโดยเน้นย้ำไปในการค้นหา 2 ส่วน คือส่วนการระบาด และตรวจตามไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ เพื่อติดตามว่าอาศัยอยู่ในครอบครัวกับใครบ้าง ทำงานสัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดกับใครบ้าง

ส่วนประชาชนที่ไม่เข้าข่าย คือไม่ได้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แต่ต้องการตรวจเอง ในที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องนี้ว่า ในระยะอันใกล้นี้จะเปิดศูนย์วอล์คอินแล็ป ที่อาคารนิมิบุตร เพื่อให้ไปตรวจได้ หากตรวจพบมีผลติดเชื้อก็จะมีการจัดการพิจารณาเป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง ก็จัดสรรไปยังศูนย์พักคอย 17 จุดของ กทม. และยังจะมีเพิ่มขึ้นอีก ส่วนสีแดงก็หาเตียงรักษาในโรงพยาบาลต่อไป จึงขอให้ติดตามข้อมูลในระยะนี้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการตรวจหาเชื้อ และการจัดการเตียง หรือการแยกกักที่บ้านให้ติดตาม

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 185,381,383 ราย เสียชีวิต 4,008,981 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,622,690 ราย อันดับ 2 อินเดีย 30,662,896 ราย อันดับ 3 บราซิล 18,855,015 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 5,790,584 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 5,658,672 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 64

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top